"สำนักงานศิษย์เก่าสัมพันธ์ มธ." ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "สำนักงานธรรมศาสตร์สัมพันธ์" ตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการจัดตั้งและการแบ่งส่วนงานของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.2559
วิธีเสริมแคลเซียมอย่างประหยัด

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกแสดงให้เห็นว่าจำนวนผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนทั่วโลกเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นปัญหาทางสาธารณสุขอันดับสอง รองจากโรคหัวใจและโรคหลอดเลือด นอกจากนี้อายุเฉลี่ยของผู้ที่เป็นโรคกระดูกพรุนยังลดลงเรื่อยๆ หมายความว่า โรคนี้อาจไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุเท่านั้น ที่สำคัญคือ การสะสมของโรคที่เสมือนภัยเงียบที่พร้อมแสดงอาการเมื่อร่างกายเราอ่อนแอลง

มีข้อมูลพบว่าผู้หญิงไทยมีโอกาสเป็นโรคกระดูกพรุนถึง 1 ใน 3 ขณะที่ผู้ชายกลับมีโอกาสเป็นต่ำกว่า คือ 1 ใน 5 และในแต่ละปีต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาโดยเฉลี่ย 3 แสนบาท ดังนั้นการป้องกันเสียแต่เนิ่นๆ จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะความแข็งแรงของกระดูกต้องค่อยๆ สร้างหรือสะสม และเคล็ดลับก็คือแคลเซียม

ทั้งนี้ การสะสมหรือสร้างแคลเซียมนั้นได้มาจากอาหารที่เรารับประทานนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นสัตว์น้ำ เช่น กุ้งแห้ง กุ้งฝอย ปลาเล็กปลาน้อย กะปิ ถั่วเปลือกแข็ง เมล็ดพืชต่างๆ เช่น งาดำคั่ว ถั่วแดงหลวง เต้าหู้ขาวอ่อน และผักประเภทยอดแค ใบชะพลู เห็ดลม ใบยอ มะขาม ผักสด ผักกระเฉด สะเดา โหระพา ผักคะน้า รวมถึงผักกาดเขียว แต่อาหารที่ให้แคลเซียมสูงและร่างกายดูดซึมได้ดีคือ นมวัวและผลิตภัณฑ์จากนมวัว ซึ่งผู้มีอายุระหว่าง 19-65 ปี ควรได้รับแคลเซียม 1,000 มิลลิกรัมต่อวันจึงจะเพียงพอ

นมวัวปริมาณ 100 มิลลิลิตรนั้นให้แคลเซียมถึง 118 มิลลิกรัม การดื่มนมวัวอย่างน้อยมื้อละหนึ่งแก้วหรือหนึ่งกล่อง (ประมาณ 200-250 มิลลิกรัม วันละ 3 แก้วหรือกล่อง) จะช่วยเสริมแคลเซียมที่ร่างกายต้องการต่อวันได้ถึงร้อยละ 70 ทีเดียว นอกจากการรับประทานอาหารที่ให้แคลเซียมสูงแล้ว แพทย์ยังแนะนำวิธีเลี่ยงโรคกระดูกพรุนโดยการหมั่นออกกำลังกาย ซึ่งหากปฏิบัติได้เป็นประจำตั้งแต่เยาว์วัยไปจนถึงอายุ 30 ปี เนื้อกระดูกจะถูกสะสมให้มีความหนาแน่นมาก การดื่มนมวัวในช่วงอายุ 30 ปีแรกของชีวิตเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพื่อกระดูกที่แข็งแรงตลอดชั่วอายุ หากเลยวัย 30 ไปแล้วก็ควรป้องกันไม่ให้สูญเสียเนื้อกระดูก โดยการดื่มนมวัววันละ 500 มิลลิลิตร รวมทั้งรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง ออกกำลังกายกลางแดดวันละ 30 นาทีในช่วงเช้าหรือเย็น แต่หากเป็นช่วงวัยทองที่ร่างกายขาดฮอร์โมนเพศซึ่งคอยยับยั้งการสลายกระดูก ทำให้อาจสูญเสียเนื้อกระดูกไปร้อยละ 3-5 ต่อปี จึงต้องดูแลเป็นพิเศษด้วยการดื่มนมวัว รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง ออกกำลังกายกลางแจ้ง และอาจต้องเสริมวิตามินอื่นๆ ที่ช่วยในการสร้างกระดูกด้วย

การเร่งเสริมแคลเซียมและสารอาหารจำเป็นในช่วงที่มีอายุมาก จะทำให้เสียค่าใช้จ่ายในการบำรุงสุขภาพมากกว่าการหมั่นดูแลใส่ใจสุขภาพให้แข็งแรงตั้งแต่อายุยังน้อย ซึ่งปัจจุบันคนไทยได้รับแคลเซียมจากอาหารเฉลี่ยเพียงวันละ 361 มิลลิกรัม และดื่มนมสดเพียง 12 ลิตรต่อคนต่อปี ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย การดื่มนมวัวร่วมกับอาหารทุกมื้อ จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยสะสมแคลเซียมได้ในระยะยาว โดยไม่ต้องพึ่งพาอาหารเสริมแคลเซียมในช่วงที่มีอายุเพิ่มขึ้น



โดยคุณ : oOfonOo เมื่อ 7 ก.ค. 2554 : 08:49:15  

ความเห็นที่ 1
การที่นมวัวมีแคลเซียมตามธรรมชาติอยู่แล้ว จึงไม่ต้องปรุงแต่งด้วยการเติมแคลเซียมเข้าไป หากเปรียบเทียบสารอาหารที่ได้จากนมวัวและนมถั่วเหลืองแล้ว นมวัว 100 กรัมจะให้แคลเซียมสูงกว่าเกือบ 30 เท่า (118 มิลลิกรัมเทียบกับ 4 มิลลิกรัม) และยังให้พลังงานสูงกว่าเกือบสองเท่า (60.75 แคลอรีเทียบกับ 33.30 แคลอรี) การดื่มนมวัวจึงครบถ้วนในขั้นตอนเดียว ทั้งง่ายและประหยัดกว่าการเสริมแคลเซียมในลักษณะอื่นๆ

นอกจากจะช่วยเสริมแคลเซียมแล้วนมวัวยังให้โปรตีนสูง และเป็นโปรตีนที่มาจากธรรมชาติที่มีกรดอะมิโนที่สมบูรณ์ที่สุดที่จำเป็นต่อร่างกาย ช่วยให้อิ่มท้อง ขณะที่ไขมันน้อยด้วย การดื่มนมวัวจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ตอบโจทย์สาวๆ ผู้ต้องการควบคุมน้ำหนักได้ในเวลาเดียวกันอีกด้วย

โดย oOfonOo [ 7 ก.ค. 2554 : 08:49:28 ]

Member
204 ศิษย์เก่า และ 54 บุคคลทั่วไป