"สำนักงานศิษย์เก่าสัมพันธ์ มธ." ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "สำนักงานธรรมศาสตร์สัมพันธ์" ตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการจัดตั้งและการแบ่งส่วนงานของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.2559
พิชิตความเศร้า หลังศึกเลือกตั้ง

“แพลงกิ้ง” หลากบรรยากาศหลายลีลากำลังฮิตในสังคมออนไลน์ ในอีกมุมหนึ่งก็มีกระแสนิยมในกลุ่มคอเพลงแนวๆ... “Morning Moon” ร้องโดย ฟักกลิ้งฮีโร่ ที่จุดกระแสเอาไว้ในเฟซบุ๊ก...www.facebook.com/Sad.Company

ไม่น่าเชื่อว่า...เพียงช่วงเวลาแค่เดือนเดียว ทำให้เพลงที่ฝากไว้ในยูทูบมีผู้คลิกเข้าไปฟังกว่า 224,000 ครั้ง และดังถึงขนาดที่ว่า...ต้องจัดประกวดทำมิวสิกวีดิโอ พร้อมมีโครงการจัดคอนเสิร์ต “เทศกาลงาน Sad” ในวันที่ 30 กรกฎาคมนี้ ที่แดนเนรมิตรเดิม

เนื้อหาบทเพลงเปรียบเปรยโดนใจแค่ไหน ลองคลิกหาฟังกันเอาเอง ซึ่ง “Sad กัมปานี” เชื่อว่า...ความรักเป็นสิ่งสวยงามและความรักไม่เคยทำร้ายใคร ส่วนความเศร้าเป็นเรื่องของความรู้สึก สัมผัสได้แต่เพียงว่า

“...เราไม่มีความสุข เราทุรนทุราย เราเสียใจ...ฟูมฟาย เราอยู่ท่ามกลางผู้คนไม่ได้หรือต้องฝืนที่ต้องเดินต่อไปให้ดีที่สุด...ถือ เป็นที่สุดของอารมณ์เลยทีเดียว”

ความเศร้า ความรัก...รักที่สุดโต่งจนหลายคนมองว่าเป็นความคลั่งไคล้ เป็นเรื่องธรรมดาของบุคคลหรือไม่นั้น นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต บอกว่า ความเศร้าไม่ว่าเกิดกับใคร ถือว่าเป็นอารมณ์ด้านหนึ่งของมนุษย์

“ถามว่าน่ากลัวไหม ก็เป็นเรื่องปกติ เหมือนเราหัวเราะ ร้องไห้ ดีใจ เสียใจ ซึ่งก็มีสิ่งตรงกันข้ามที่เกิดขึ้นกับตัวเราอยู่เสมอ”

ความเศร้า...เกิดหลังจากเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ผิดหวัง พลาดหวัง อาจไม่ต้องถึงขนาดหวังมาก แต่สิ่งเล็กๆน้อยๆบางอย่าง...ผิดหวังก็เกิดความเศร้าโศก เสียใจได้ หรืออีกประการหนึ่งคือความสูญเสีย ซึ่งอาจเป็นการเสียคนที่เรารัก สิ่งของ สัตว์เลี้ยง หรืออะไรก็ได้เช่นกัน

อาการเศร้ามีหลายระดับ แบ่งตามลักษณะอาการเริ่มจากเกิดขึ้นได้และหายไปเป็นช่วงๆ แล้วก็จะหายไป ถัดมาก็จะเป็นกลุ่มเศร้าผิดปกติ ยังไม่ถึงขนาดที่จะเป็นโรคซึมเศร้า แต่มีความเสียอกเสียใจ เช่นบางคนที่เสียญาติ คนรัก โดยปกติจะทำให้มีอาการเศร้าเกิดขึ้นไม่น่าจะเกิน 2-4 สัปดาห์

แต่ถ้าเป็นในลักษณะต่อเนื่องยาวนาน มากกว่าสองสัปดาห์ขึ้นไป ทางกลุ่มจิตแพทย์เห็นกลุ่มอาการเหล่านี้ก็จะบอกว่าเป็น “โรคซึมเศร้า”

กลุ่มนี้จะเป็นแบบเรื้อรังอยู่ยาวกว่าสองสัปดาห์ บางคนอาจจะเป็นเดือนหรือหลายๆ เดือน เป็นกลุ่มที่ต้องได้รับความสนใจเป็นพิเศษ อาจเศร้านานกว่า 6 สัปดาห์...หรือนานกว่า 3 เดือน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ต้องใช้การปรับตัวนานกว่าคนอื่น

ความเศร้าระดับแรกไม่น่ากลัว คุณหมอทวีศิลป์ บอกว่า เป็นความเศร้าทั่วไปที่เราเผชิญกันอยู่ ความผิดหวัง ความสูญเสีย ถ้าแรงที่สุดก็คือการสูญเสียคนที่เรารักโดยการตายจากไป

“เราจะเห็นงานศพใช้เวลาสักสัปดาห์นึงในการสวดศพ บางคนต้องเก็บไว้ร้อยวัน ในภาพรวมแล้วก็จะเป็นความเศร้าที่เกิดจากกลุ่มที่หนึ่งกับสอง...”

เพื่อที่จะได้มีการปรับตัวปรับใจ กระบวนการทางด้านสังคมก็จะช่วยเยียวยาคนที่สูญเสียนั้นด้วย แต่ว่าถ้านานเกินไปกว่านั้นบางคนก็เป็นปีหรือไม่นาน แต่ว่าสูญเสียหนักเหลือเกิน ทำใจไม่ได้เลย ผ่านสองสัปดาห์ไปแล้วก็ยังจมดิ่งอยู่กับความทุกข์ก็จะอยู่ในความเศร้าระดับที่สาม



โดยคุณ : oOfonOo เมื่อ 22 มิ.ย. 2554 : 08:59:23  

ความเห็นที่ 1

ถึงขั้นนี้แล้ว ถามถึงความจำเป็นว่าจะต้องพบแพทย์หรือเปล่า คุณหมอทวีศิลป์ แนะว่ากลุ่มความเศร้ากลุ่มนี้ ควรจะมาพบแพทย์ เพราะเป็นกลุ่มที่มีการตอบสนองต่ออารมณ์ ความรู้สึกที่เกินไปจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริง

สำหรับคนข้างตัว น่าจะสังเกตผู้ที่มีอารมณ์เศร้าได้ชัดเจน ผิดหวัง...เริ่มต้นด้วยการมีสมาธิที่เสียไป กับความสนใจไยดีในสิ่งที่เคยสนใจ เคยติดตาม...บางคนเคยดูหนัง ดูละครแล้วก็สนุกสนานก็ไม่อยากดู สิ่งที่เคยสนอกสนใจตัวเอง มีอยู่ก็หายไป

ประการต่อมา...สมาธิที่จะทำโน่นทำนี่เสียไป และนำไปสู่ในเรื่องของอารมณ์ ซึ่งจะมี 2 รูปแบบ คือ หงุดหงิดกับอารมณ์เศร้า

“หงุดหงิดอาจจะบอกไม่ได้ว่าเป็นอารมณ์เศร้าได้อย่างไร...ใครที่อารมณ์หงุดหงิด รู้สึกว่าทำอะไรไม่ได้ถึงหงุดหงิด ที่แท้จริงก็คือตัวเองผิดหวัง แล้วก็อยู่ในกระบวนของความเศร้าโดยไม่รู้ตัว ก็เลยแสดงอารมณ์หงุดหงิดออกมา”

สำหรับคนรอบข้าง...ผลที่ตามมา อาจจะมีปฏิกิริยาตอบกลับแบบไม่เข้าใจ เพราะถ้าผู้เศร้าแล้วร้องไห้โฮ...โฮ ออกมาเลย คนรอบข้างเห็นก็จะเข้าไปปลอบ

วิธีปลดปล่อยความเศร้า อาจเรียกได้ว่าไม่มีสูตรสำเร็จ ผู้ชายกับผู้หญิงก็มีวิธีการที่ต่างกันแล้ว ความเศร้ากับผู้หญิงกลายเป็นเรื่องที่สังคมยอมรับ ผู้หญิงจะร้องไห้ จะแสดงออกมายังไงก็เหมาะสมกับเพศ หรือเด็กถ้าไม่สบายใจจะร้องไห้ออกมาเลยก็ไม่แปลก

“ผู้หญิง...วัยเด็ก ถ้าแสดงอารมณ์อะไรต่างๆ ออกมา ส่วนใหญ่แล้วก็จะสบายใจขึ้นหรือทำให้มีคนเข้าไปปลอบประโลมได้ดีขึ้น ถ้าหากเป็นผู้ชาย...เป็นกับคนที่มีหน้าที่การงาน เป็นใหญ่ทั้งหลาย ถ้าเกิดอะไรขึ้นมากับจิตใจ ก็จะมีข้อจำกัดในการแสดงออกทางอารมณ์ คนเหล่านี้อาจจะมีความเสี่ยงมากกว่า ที่จะมีความอัดอั้นตันใจ”

อย่างที่เกริ่นนำไปแล้วตั้งแต่ต้นว่าความเศร้าเป็นอารมณ์ด้านหนึ่งของมนุษย์ เพียงแต่มีปัญหาว่าถ้าเศร้าสะสมในระดับที่เรียกว่าเป็นโรค ก็จะต้องมีวิธีการปลดปล่อย เยียวยา คุณหมอทวีศิลป์ บอกอีกว่า ก็มีเจอเหมือนกัน แม้ว่าจะแสดงออกทางอารมณ์ได้ดี แต่ก็พบว่าคนที่มีความเศร้าขั้นที่สาม...เป็นโรคซึมเศร้ากลับกลายเป็นว่า กลุ่มผู้หญิงมีเยอะกว่า

อาจจะเชื่อมโยงไปกับเรื่องของสารเคมีในสมอง ฮอร์โมน รวมถึงปัจจัยต่างๆนอกเหนือจากปัจจัยทางด้านจิตใจ อาจสรุปได้ว่าถ้าเศร้าโดยรู้ตัวก็หาทางปลดปล่อย...คนข้างตัวก็ช่วยได้ แต่ถ้าเศร้าแล้วไม่รู้ตัว คนรอบตัวก็อาจจะไม่เข้าใจ


โดย oOfonOo [ 22 มิ.ย. 2554 : 09:01:14 ]

ความเห็นที่ 2
“เวลาเราจัดการ แก้ไขในเรื่องของความเศร้า จะให้ความสำคัญของจิตใจเป็นอันดับแรก...ตัวเองต้องแก้ไขจิตใจตัวเองให้ได้ รับรู้ว่าตัวเองอยู่ในอารมณ์ไหน...จัดการอารมณ์นั้นให้ได้ซะ ยอมรับว่าตัวเองเศร้าก็ต้องระบายออก หาทางออกให้ได้...อันที่สอง ผ่านคนใกล้ชิด ง่ายที่สุดคือครอบครัวก็เข้ามาช่วยได้

ขยับออกมาอีกชั้นนึง คนที่ทำงาน เพื่อน ถ้าให้โอกาสกับคนที่มีความเศร้า...ซึ่งบางคนก็อาจจะต้องหยุดงาน ใช้เวลาพักใจ อยู่กับตัวเอง อยู่กับคนที่เขารักเพื่อเปลี่ยนตัวเองจากเศร้ามาเป็นปกติ”

เหมือนกับเราบาดเจ็บที่แขน ก็ต้องพักแขน ไม่ขยับ...จิตใจก็คือตัวตนทั้งตัว ก็ต้องใช้เวลาพัก เยียวยา

ในช่วงบรรยากาศหาเสียงเลือกตั้งอย่างนี้ “สกู๊ปหน้า 1”...อดถามไม่ได้ว่า เมื่อผลการเลือกตั้งออกมา ใครที่สอบตก...หรือประชาชนที่หวังลุ้นนักการเมือง พรรคการเมืองในดวงใจเกิดพลาดหวังขึ้นมา ไม่แน่ว่าบางคนที่ทุ่มเทสุดตัว อาจจะรู้สึกเศร้าเกินขีด คุณหมอทวีศิลป์ มีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง

“ระดับผู้ใหญ่แล้ว ก่อนที่จะลงสมัครสู่สนามเลือกตั้งก็คาดหวังไว้แล้วว่าผลที่จะออกมามีสองทาง สอบได้...กับสอบตกน่าจะทำใจยอมรับได้อยู่แล้ว โดยเฉพาะถ้ามีประสบการณ์ มีเพื่อนพ้อง บุคคลที่อยู่ในกลุ่มก้อน กระบวนการที่ต้องเผชิญจะเป็นตัวจัดการ ผ่านช่วงเวลานี้ไปได้”

ขณะเดียวกันถ้าพลาดหวังจากสนามเลือกตั้ง หลายคนได้รับการดูแลในระบบพรรค ก็จะมีตำแหน่งหน้าที่ให้ได้ทำงานการเมืองต่อไปได้

สรุปได้ว่า ความเศร้าหลังศึกเลือกตั้งไม่น่าจะใช่เรื่องใหญ่สำหรับผู้ที่ทำใจได้ แต่กับบางคนที่เคยใหญ่ และอยากใหญ่ต่อไปโดยที่ไม่เคยแพ้หรือยอมรับความ พ่ายแพ้ ก็อาจจะรู้สึกทุกข์ใจ

ถ้ายังคลายปมใจนี้ไม่ได้ คงต้องกลืนความเศร้า...อยู่คนเดียวอย่างโดดเดี่ยวต่อไป

โดย oOfonOo [ 22 มิ.ย. 2554 : 09:02:01 ]

Member
205 ศิษย์เก่า และ 54 บุคคลทั่วไป