ปัจจุบันการสูบบุหรี่ไม่ใช่เรื่องโก้เก๋อีกต่อไปแล้ว เพราะโทษของบุหรี่มีผลถึงสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เป็นมหันตภัยที่คนรักชีวิตควรหลีกเลี่ยง ในปี 2531 องค์กรอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้วันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก เพื่อกระตุ้นให้ทุกประเทศตระหนักถึงอันตราย และความสูญเสียทั้งทางสุขภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดจากการสูบบุหรี่ รวมทั้งประกาศเตือนเยาวชนที่เริ่มสูบบุหรี่เมื่ออายุยังน้อยและสูบเป็นประจำว่าจะเสียชีวิตก่อนอายุขัยปกติ (ประมาณ 70-80 ปี) ถึง 22 ปี
สำหรับประเทศไทย ได้มีการรณรงค์ให้เลิกสูบบุหรี่ และกำหนดมาตรการต่างๆ โดยการดูแลของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และบุคลากรสาธารณสุข โดยอาศัยพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบพ.ศ.2535 และ พ.ร.บ. คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535 มีสาระสำคัญมุ่งคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ในสถานที่สาธารณะ
ผู้ริเริ่มการ "ห้ามสูบบุหรี่" ในที่สาธารณะเป็นรายแรก คือ อดีตนายกรัฐมนตรี นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ที่ห้ามสูบบุหรี่ในโรงภาพยนตร์ ในช่วงปี 2520 ต่อมาสมัย นายอานันท์ ปันยารชุน ได้ตรากฎหมายคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2535
ล่าสุด สธ. ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 19 พ.ศ.2553 สร้างพื้นที่เป็นเขตปลอดบุหรี่ทั้งหมด ครอบคลุมสถานที่ 5 ประเภท ได้แก่
1.สถานบริการสาธารณสุข และสถานส่งเสริมสุขภาพทุกประเภท เช่น สถานอบไอน้ำ อบสมุนไพร สปา นวดแผนไทย
2.สถานศึกษาระดับต่ำกว่าอุดมศึกษา
3.สถานที่สาธารณะเช่น ตลาด โรงงาน สำนักงาน
4.ยานพาหนะและสถานที่ขนส่งสาธารณะ เช่น แท็กซี่ รถโดยสารประจำทาง
5.ศาสนสถาน
รวมทั้งกำหนดสถานที่ปลอดบุหรี่ แต่อาจจัดหรือไม่จัดให้มีเขตสูบบุหรี่ก็ได้ในพื้นที่ 4 ประเภท ได้แก่
1.สถานที่ราชการ
2.สถานศึกษาระดับอุดมศึกษา
3.ปั๊มน้ำมัน
4.สนามบินนานาชาติ
ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2553
กฎหมายนี้ หากผู้ใดฝ่าฝืนยังดึงดันที่จะสูบบุหรี่ในที่ห้ามสูบจะได้รับโทษถูกปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือหากเป็นเจ้าของสถานที่สาธารณะตามประกาศฉบับใหม่ ที่ไม่จัดเขตปลอดบุหรี่ด้วยการติดป้ายสัญลักษณ์ตามที่กำหนด จะมีโทษถูกปรับไม่เกิน 20,000 บาท
ในเมื่อรณรงค์กันแล้ว แต่ยังไม่เห็นผล คงต้องใช้มาตรการทางกฎหมายบังคับ!
โดยคุณ : oOfonOo เมื่อ 31 พ.ค. 2554 : 12:36:07