
“สงกรานต์” เทศกาลวันปีใหม่ไทย เวียนกลับมาอีกครั้งในทุกๆ ปี และเช่นเดียวกันมีสิ่งที่กลายเป็นเงาติดตามช่วงเทศกาลไปเสียแล้ว นั่นคือ… การรณรงค์ลดอุบัติเหตุบนท้องถนนของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นมกราคมวันขึ้นปีใหม่ฝรั่ง หรือของไทยงานสงกรานต์เดือนเมษายน เพราะใน
ช่วงเทศกาลมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบนท้องถนน ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ถือว่าร้ายแรงกว่าภัยพิบัติต่างๆ เสียอีก เช่น อุบัติเหตุสงกรานต์เมื่อปี 2553 ที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิต 361 ราย และบาดเจ็บถึง 3,802 ราย ดังนั้นเมื่อถึงช่วงงานสงกรานต์ หรือเทศกาลปีใหม่เวียนกลับมาในแต่ละปี ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงพากันโหมประโคมรณรงค์ลดอุบัติเหตุเพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนน จนกลายเป็นประเพณีไปแล้ว ทั้งที่อุบัติเหตุบนท้องถนนเกิดขึ้นแทบทุกวัน และสถิติอยู่ในระดับสูงมากเช่นกัน
ฉะนั้น การรณรงค์หรือป้องกันอุบัติเหตุบนท้องถนน ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน ประชาชน หรือองค์กรใดๆ ก็ตาม ต้องใส่ใจและให้ความสำคัญตลอดเวลา โดยทำอย่างไร?... ที่จะเกิดความปลอดภัยบนท้องถนนทุกวัน ไม่ใช่เฉพาะแค่ช่วงงานเทศกาลปีใหม่ หรือสงกรานต์เท่านั้น!
“ปัจจุบันไทยมีอุบัติเหตุบนท้องถนนมากถึงปีละ 1.2 หมื่นรายต่อปี เฉลี่ยวันละ 30 ราย หรือคิดเป็น 17.39 รายต่อประชากร 1 แสนคน ซึ่งหากเทียบกับมาตรฐานโลกถือว่าสูงมาก เพราะอย่างญี่ปุ่นหรือประเทศพัฒนาแล้ว และแม้แต่ในอาเซียนอย่างสิงคโปร์ เขามีอัตราตัวเลขหลักเดียวเท่านั้น”
ชยันต์ ศิริมาศ ผู้อำนวยการสำนักบูรณาการสาธารณภัยอุบัติภัยและความปลอดภัยทางถนน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวในงานสัมมนา “ความปลอดภัยบนท้องถนน : วาระเร่งด่วนต่อการพัฒนาประเทศ” จัดโดยสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ในงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ 2011 ที่ผ่านมา
“เมื่อ 4 ปีก่อน องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้ประเมินความปลอดภัยบนท้องถนนของไทย ปรากฏว่าไทยสอบตกหมดทุกหมวด และมีความปลอดภัยบนท้องถนนอยู่อันดับที่ 106 จากการประเมินทั้งหมด 178 ประเทศทั่วโลก”
จากการประเมินของ WHO นับว่าไทยอยู่ในสภาวะที่มีความปลอดภัยบนท้องถนนน้อยอย่างยิ่ง โดยชยันต์ได้ให้รายละเอียดแต่ละหัวข้อในการประเมินว่า อันดับแรกเรื่องการ “ขับรถเร็ว” คะแนนเต็ม 10 WHO ให้ประเทศไทยได้แค่ 2 คะแนน นั่นหมายความว่าคนไทยขับรถเร็วอย่างยิ่ง ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วเขาจะเรียนและทำความเข้าใจหลักกลศาสตร์ว่า ความเร็วขนาดไหนถึงจะปลอดภัย อย่างความเร็ว 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มันจะมีแรงขนาดไหนและควรจะเบรกระยะเท่าไหร่ โดยมีการเรียนและได้รับการทำความเข้าใจมาตั้งแต่ชั้นประถมเลย
ต่อมาเป็นเรื่อง “เมาแล้วขับ” ไทยได้ 5 คะแนน แต่ดูจากสถิติปัจจุบันจริงๆ และหากกรมป้องกันภัยฯ ประเมินจะให้ตัวเลขต่ำกว่านี้มาก เพราะเมาแล้วขับเป็นสาเหตุหลักอีกอย่าง ที่ทำให้เกิดอุบัติบนท้องถนนของไทย ส่วนเรื่องหมวกนิรภัยได้ 4 คะแนน คาดเข็มขัดนิรภัยประเทศไทยได้ 5 คะแนน
“ยิ่งกว่านั้นไทยได้ 0 คะแนน ในเรื่องที่นั่งนิรภัยเด็ก ซึ่งในประเทศไทยไม่ได้มีหรือให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้เลย แต่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา เขาเขียนเป็นกฎหมายบังคับออกมาเลย รวมถึงคนนั่งตอนหลังต้องคาดเข็มขัดนิรภัยด้วย”
โดยคุณ : oOfonOo เมื่อ 18 เม.ย. 2554 : 09:38:43