ทีมนักวิจัยศูนย์เพื่อการพัฒนาทางชีววิทยา RIKEN ในเมืองโกเบของญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการเพาะเรตินาหรือจอตาในหนู คาดทดสอบในคนได้ใน 5 ปี และได้ใช้เรตินาเทียมสำหรับปลูกถ่ายฟื้นการมองเห็นภายใน 10-20 ปี
นิตยสารเนเจอร์รายงานว่า ทีมนักวิจัยศูนย์เพื่อการพัฒนาทางชีววิทยา RIKEN ในเมืองโกเบของญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการเพาะประสาทตาส่วนที่เรียกว่าเรตินาหรือจอตาจากเซลล์ต้นกำเนิดหรือสเต็มเซลล์ในการทดลองกับหนู แม้เรตินาดังกล่าวยังไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ แต่คาดว่าความก้าวหน้าใหม่นี้จะเป็นประโยชน์ต่อคนตาบอดหรือผู้ที่มองเห็นบางส่วนในอนาคต
ในการศึกษานักวิจัยใช้สเต็มเซลล์ของหนูเพาะเลี้ยงด้วยสูตรอาหารผสมหลายอย่าง ซึ่งต่อมาเซลล์ได้เปลี่ยนแปลงและเจริญเติบโตเป็นเรตินาชิ้นใหม่ เป็นโครงสร้าง 3 มิติคล้ายตาที่กำลังเจริญเติบโตของตัวอ่อน
นักวิจัยเชื่อว่าในอนาคตจะสามารถเพาะเซลล์เรตินาหรือเรตินาที่สมบูรณ์สำหรับใช้ปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วยที่มีปัญหาในการมองเห็นได้อย่างไม่จำกัดจำนวน โดยเพาะสเต็มเซลล์จากผิวหนัง ก่อนเพาะเลี้ยงด้วยสูตรอาหารพิเศษที่เป็นโปรตีนและวิตามินเพื่อให้เจริญเติบโตเป็นเรตินา และเป็นไปได้ว่าในท้ายที่สุดอาจสามารถเพาะดวงตาที่สมบูรณ์ขึ้นได้
ความสำเร็จดังกล่าวสร้างความยินดีแก่ผู้เชี่ยวชาญทั่วไป นายโรบิน อาลี ผู้เชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัยคอลเลจ ลอนดอนเชื่อว่าการทดสอบในคนอาจทำได้ภายใน 5 ปี และคาดว่าภายใน 10-20 ปีจะมีเซลล์เรตินาสังเคราะห์สำหรับปลูกถ่ายฟื้นการมองเห็นให้กับคนตาบอด โดยเฉพาะปัญหาจอประสาทตาเสื่อม (MD) ที่เกิดขึ้นตามวัยที่เพิ่มขึ้น
โดยคุณ : oOfonOo เมื่อ 11 เม.ย. 2554 : 08:39:44