"สำนักงานศิษย์เก่าสัมพันธ์ มธ." ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "สำนักงานธรรมศาสตร์สัมพันธ์" ตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการจัดตั้งและการแบ่งส่วนงานของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.2559
เรื่อง (ไม่) เล็ก การรักษารากฟัน

ขั้นตอนการรักษารากฟัน

เมื่อเอ่ยถึงการรักษารากฟัน หลายคนอาจทำหน้าสงสัย แค่ชื่อก็ฟังดูน่าขยาด ชวนให้นึกไปถึงขั้นตอนการรักษาที่ยุ่งยาก ซับซ้อน และเกี่ยวโยงไปถึงความเจ็บปวดที่จะตามมา อันที่จริงแล้วการรักษารากฟันนั้นมีความยุ่งยากซับซ้อนก็จริง แต่ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดกัน เพราะเป็น กระบวนการรักษาที่ทำให้สามารถเก็บฟันที่ผุ แตก หัก ทะลุโพรงประสาทให้ใช้งานได้ต่อไปอีกนาน ดังนั้นเราจึงควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับการรักษารากฟันซึ่งเป็นเรื่อง (ไม่) เล็กที่อาจใกล้ตัวกว่าที่คิด

การรักษารากฟันจะทำเพื่อรักษาโรคที่เกิดขึ้นกับระบบโพรงประสาทฟัน ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากฟันที่ผุและถูกปล่อยทิ้งไว้จนลุกลามเข้าสู่โพรงประสาทฟัน หรือการที่ฟันได้รับอุบัติเหตุต่างๆ จนส่งผลให้เกิดการอักเสบและติดเชื้อของโพรงประสาทฟันตามมา ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รักษา การติดเชื้อนั้นก็อาจลุกลามเข้าสู่กระดูกเบ้าฟันและช่องเนื้อเยื่อบริเวณใบหน้าได้

อาการที่บ่งชี้ว่าฟันอาจมีการอักเสบติดเชื้อภายในโพรงประสาทจนต้องรักษารากฟัน เช่น มีอาการปวดฟันรุนแรงและยาวนาน เมื่อโดนสิ่งกระตุ้นต่างๆ ความร้อนหรือความเย็น หรือจู่ๆ ก็ปวดฟันขึ้นมาโดยไม่ต้องมีสิ่งกระตุ้น (ซึ่งมักจะเป็นมากเวลานอน) ฟันมีสีคล้ำลงผิดจากฟันซี่อื่น มีอาการบวมบริเวณเหงือกและใบหน้า หรือมีตุ่มหนองเกิดขึ้น

ขั้นตอนหลักของการรักษารากฟัน ประกอบด้วย

1. เปิดทางเข้าจากตัวฟันไปถึงโพรงประสาทฟันที่อักเสบ

2. ล้างทำความสะอาดคลองรากฟัน พร้อมขยายและตบแต่งคลองรากฟันให้เหมาะสมแก่การอุด อาจมีการใส่ยาทิ้งไว้ในคลองรากฟันเพื่อกำจัดเชื้อที่เหลืออยู่

3. เมื่อโพรงประสาทฟันสะอาดดีแล้ว ทันตแพทย์จะทำการอุดปิดโพรงประสาทฟันอย่างถาวร โดยใช้วัสดุจำพวกยางอุดตั้งแต่ปลายรากฟันถึงพื้นโพรงประสาทฟัน และปิดทับด้วยวัสดุทางทันตกรรม

4. ทันตแพทย์จะทิ้งระยะเพื่อรอดูอาการซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพของฟัน และเมื่อแน่ใจว่าการรักษารากฟันประสบความสำเร็จ ก็จะทำการบูรณะฟันตามความเหมาะสมต่อไป

โดยคุณ : oOfonOo เมื่อ 25 มี.ค. 2554 : 08:54:07  

ความเห็นที่ 1

ภาพจำลองฟันที่ผ่านการรักษารากแล้ว

เจ็บ (หรือเปล่า)?

โดยทั่วไปทันตแพทย์จะมีการใส่ยาชาก่อน เว้นในรายที่โพรงประสาทฟันตายไปแล้วจริงๆ จะไม่เกิดอาการเจ็บปวดเลย แต่บางรายอาจพบอาการเจ็บหรือตึงที่ฟัน ซึ่งเป็นผลแทรกซ้อนจากการรักษาได้บ้าง

แม้เทคโนโลยีการรักษาคลองรากฟันจะพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถย่นระยะเวลาการรักษาลงได้มาก แต่ก็ใช่ว่าฟันทุกซี่จะรักษาได้เสมอไป ดังนั้นจึงไม่ควรละเลยในการดูแลสุขภาพช่องปากให้ดี โดยแปรงฟันให้สะอาดทั่วถึงและหมั่นพบทันตแพทย์เพื่อตรวจเช็คสุขภาพฟันทุก 6 เดือน รวมทั้งไม่ควรปล่อยให้ฟันผุลุกลามไปจนถึงโพรงประสาทฟัน เพียงเท่านี้การรักษารากฟันก็ยังคงเป็นเรื่องเล็กที่ห่างไกลตัวเราไปอีกนาน ทั้งยังมีฟันธรรมชาติอยู่คู่กับเราดีกว่าเป็นไหนๆ

โดย oOfonOo [ 25 มี.ค. 2554 : 08:56:55 ]

Member
205 ศิษย์เก่า และ 54 บุคคลทั่วไป