"สำนักงานศิษย์เก่าสัมพันธ์ มธ." ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "สำนักงานธรรมศาสตร์สัมพันธ์" ตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการจัดตั้งและการแบ่งส่วนงานของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.2559
"อนาคตของโรคเกาต์"


โรคเกาต์เป็นโรคข้ออักเสบที่เกิดจากการมีกรดยูริกในเลือดสูงกว่าปกติจนไปสะสมในข้อทำให้เกิดการอักเสบเฉียบพลันของข้อขึ้น ที่มาของโรคเกาต์เกิดจากขบวนการวิวัฒนาการของมนุษย์ทำให้เอนไซม์ชื่อยูริเคส (uricase) ที่ทำหน้าที่เปลี่ยนกรดยูริกที่ร่างกายผลิตขึ้นไปเป็นสารอัลลันโตอิน(allantoin) ที่ละลายน้ำได้ดีกว่า หายไปจากร่างกายของคนเรา พอขาดเอนไซม์ยูริเคส มนุษย์เราจึงมีระดับกรดยูริกในเลือดเพิ่มมากขึ้น เมื่อมีระดับกรดยูริกในเลือดสูงมากนานเป็น 5 ปี 10 ปี ก็เกิดเป็นโรคเกาต์ขึ้น คือมีอาการข้อบวม ปวดข้อเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันบริเวณข้อนิ้วโป้งเท้า หรือข้อเท้า ทำให้เกิดอาการปวดรุนแรง ทรมานมาก แต่ก็จะบรรเทาหรือหายไปเองภายใน 2-3 วัน แล้ววันดีคืนร้ายถ้าไปรับประทานอาหารบางอย่างที่มีกรดยูริกสูง เช่น เป็ด ไก่ เครื่องใน หรือดื่มเหล้า ก็จะมีอาการปวดตามข้อขึ้นมาอีก ถ้าเป็นบ่อย ๆ ครั้ง ก็จะกลายเป็นโรคเกาต์เรื้อรัง หรือมีการสะสมของกรดยูริกตามร่างกายเป็นก้อนกรดยูริคที่เรียกโทพัส (tophus) เป็นก้อนตะปุ่มตะป่ำใต้ผิวหนัง ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง ถึงแม้ไม่เจ็บ แต่จะดูน่าเกลียด

อนาคตของโรคเกาต์อาจกล่าวได้เป็น 2 ประเด็น ประเด็นแรกคืออนาคตของผู้ที่เป็นโรคเกาต์ถึงแม้โรคเกาต์จะเป็นที่รู้จักกันดีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ตั้งแต่ยุคอารยธรรมอียิปต์ กรีก โรมัน แต่เพิ่งจะเมื่อไม่นานมานี้ที่มีการศึกษาเรื่องโรคเกาต์จนไปพบว่า ผู้ที่เป็นโรคเกาต์นอกจากจะมีอาการปวดบวมข้อรุนแรง เป็นครั้ง ๆ แล้ว ถ้าปล่อยทิ้งเอาไว้ไม่ได้รักษาหรือพยายามควบคุมระดับกรดยูริกในเลือดให้เป็นปกติคือน้อยกว่า 6 มก./ดล. แล้ว ผู้ป่วยจะเริ่มมีไตเสื่อมหรือถึงขนาดไตวายเนื่องจากกรดยูริกที่ไปสะสมที่ไต พอไตเริ่มเสื่อม ผู้ป่วยจะเริ่มมีความดันโลหิตสูงขึ้น ซึ่งความดันโลหิตที่สูงขึ้นนี้ก็ช่วยทำให้ไตเสื่อมหรือไตวายเร็วขึ้นอีก เมื่อผู้ป่วยมีความดันโลหิตสูงขึ้นสักระยะหนึ่ง ปัญหาที่ตามมาคือโรคหัวใจ ไม่ว่าจะเป็นกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือหัวใจล้มเหลว นอกจากนี้ยังมีปัญหาของโรคอัมพาต จากความดันโลหิตสูงหรือโรคหัวใจ อาจทำให้เส้นเลือดในสมองแตก ตีบหรือตัน ทำให้มีเลือดออกในสมองหรือสมองบางส่วนขาดเลือดไปเลี้ยงทำให้เป็นอัมพาต นั่นคืออนาคตของผู้ป่วยโรคเกาต์ที่ไม่ได้รับการรักษาหรือควบคุมระดับกรดยูริกในเลือดให้เป็นปกติ ทำให้นอกจากจะได้รับความเจ็บปวดทนทุกข์ทรมานจากข้ออักเสบเฉียบพลันแล้ว ยังจะเป็นโรคไตเสื่อม ไตวายต้องล้างไต เป็นโรคความดันโลหิตสูง ต้องรับประทานยาลดความดันโลหิตตลอดชีวิต เป็นโรคหัวใจหรืออัมพาต กลายเป็นคนพิการ เป็นภาระต่อครอบครัวและสังคมอีก ในปัจจุบันมีการมองโรคเกาต์เหมือนเป็นโรคเบาหวานหรือโรคความดันโลหิตสูง คือต้องมีการติดตามผู้ป่วยโรคเกาต์ มีการรักษาอย่างต่อเนื่อง มีการเจาะเลือดตรวจระดับกรดยูริกเป็นระยะทุก 3 เดือน 6 เดือน และพยายามควบคุมกรดยูริกในเลือดให้มีระดับต่ำกว่า 6 มก./ดล. ตลอดเวลา จะด้วยการรับประทานยา คุมอาหาร หรือการปฏิบัติตัวอื่นที่ถูกต้อง เช่นรับประทานน้ำเปล่ามาก ๆ มีการออกกำลังกายสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีกรดยูริกสูง ๆ เช่น สัตว์ปีก เครื่องในสัตว์ และที่สำคัญเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะเหล้า เบียร์ ถ้าปฏิบัติได้อย่างนี้แล้วก็จะสามารถป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วได้



โดยคุณ : oOfonOo เมื่อ 22 มี.ค. 2554 : 010:19:19  

ความเห็นที่ 1
อีกประเด็นหนึ่งที่จะกล่าวถึงคือ อนาคตของวิธีการรักษาโรคเกาต์ ในปัจจุบันการรักษาโรคเกาต์ใช้ยาที่ใช้กันมานาน เช่น ยาคอลไชซิน (colchicine) หรือยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น ยาอินโดเมธาซิน (indomethacin) เพื่อบรรเทาอาการอักเสบ อาการปวดข้อ ในเวลาที่มีข้ออักเสบรุนแรง ตามมาด้วยยาลดกรดยูริก เช่นยาที่ลดการสร้างกรดยูริก เช่น ยาอัลโลพิวรินอล (allopurinol) หรือยาเพิ่มการขับกรดยูริกออกทางปัสสาวะ เช่น ยา sulfinpyrazone, ยา benzbromarone ยา probenecid, เพื่อควบคุมระดับกรดยูริกให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 6 มก./ดล. เอาไว้ตลอด ขนาดของยาที่ให้ก็จะถูกปรับใช้ให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายที่มีระดับกรดยูริกสูงต่ำไม่เท่ากัน ในอนาคตการรักษาโรคเกาต์จะมียาใหม่ ๆ ที่ออกฤทธิ์ตรงกับกลไกการเกิดโรคมากขึ้น เช่น มีเอนไซม์ยูริเคส (uricase) มาฉีดเพื่อลดระดับกรดยูริกให้เป็นปกติ ในผู้ป่วยที่ใช้ยาที่มีอยู่แล้วยังไม่ได้ผล มียาลดกรดยูริกตัวใหม่ ๆ ที่มีผลข้างเคียงน้อยกว่าของเดิม เช่นยา flebuxostat มีโอกาสเกิดการแพ้ยาน้อยกว่าเดิม มียาชีวภาพที่จะออกฤทธิ์ยับยั้งกลไกการเกิดการอักเสบที่เกิดขึ้นในโรคเกาต์โดยตรง เช่น ยาต่อต้านสาร inflammasome เป็นต้น ซึ่งยาชีวภาพเหล่านี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาผลการใช้ทางคลินิกในผู้ป่วยโรคเกาต์จริง ๆ อยู่

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าอนาคตของการรักษาโรคเกาต์สดใสแน่ เพราะจะมีวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ปลอดภัยมากขึ้น แต่ที่สำคัญที่สุด การรักษาโรคเกาต์จะประสบผลสำเร็จหรือไม่ อยู่ที่ผู้ป่วยโรคเกาต์เองปฏิบัติตัวถูกต้องหรือไม่เพียงใด

อนาคต จะสดใส ใครกำหนด

อยู่ที่งด อดสุรา และอาหาร

ข้อไม่ปวด ต้องกวดขัน กันพิการ

ไม่ทรมาน เพราะคุมได้ ใต้ 6 เอย

โดย oOfonOo [ 22 มี.ค. 2554 : 010:19:34 ]

Member
205 ศิษย์เก่า และ 54 บุคคลทั่วไป