"สำนักงานศิษย์เก่าสัมพันธ์ มธ." ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "สำนักงานธรรมศาสตร์สัมพันธ์" ตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการจัดตั้งและการแบ่งส่วนงานของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.2559
ยาชา-ยาแก้อักเสบจาก "ผักคราดหัวแหวน"

ผักคราดหัวแหวน บ้างก็เรียกผักคราดหรือผักเผ็ด เป็นผักที่ชาวบ้านทั่วไปรู้จักและนำมารับประทานเป็นผักสดแกล้มอาหารคาวเพื่อดับกลิ่นและเพิ่มรสชาติ ทางภาคเหนือแกงในแกงแคเพิ่มรสชาติและความอร่อยยิ่ง ตามตลาดผักพื้นบ้านมีพ่อค้าแม่ค้าชาวตลาดนำมาวางขายทั่วไป แต่มีน้อยลงเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับในอดีต

เด็กรุ่นใหม่ๆ ไม่ค่อยรู้จักกันมากนัก บางทีพบเห็นข้างทางทั่วไปก็พลันคิดว่าเป็นต้นหญ้าหรือวัชพืชที่ไม่พึงประสงค์ แต่ก็รับรู้ว่าผักคราดหัวแหวนนั้นนำมาใช้เป็นยาแก้ปวดฟันได้ แต่ถ้าเทียบกับการใช้ดอกกานพลูรักษาอาการปวดฟันแล้ว โดยส่วนใหญ่ย่อมรู้จักดอกกานพลูมากกว่า

สำหรับหมอแผนไทยจะใช้ดอกผักคราดที่เป็นดอกเล็กๆ สีเหลืองรักษาแมงกินฟัน และช่วยลดอาการปวดฟันได้ ปัจจุบันในวงการแพทย์ และการวิจัย สามารถนำเอาสารที่มีฤทธิ์เป็นยาชาในดอกผักคราดซึ่งพบว่า คือสาร SPILANTHOL มาพัฒนาใช้ในการรักษาอาการปวดฟันและการอักเสบในช่องปาก จนเป็นที่รู้จักในชื่อ TOOTHACHE PLANT

คราดหัวแหวน จัดเป็นผักที่เป็นทั้งอาหารและยาสมุนไพร และเป็นหนึ่งในยาสมุนไพรในงานสาธารณสุขมูลฐาน ที่ใช้แก้อาการในช่องปาก ส่วนที่นิยมนำมาบริโภคหรือใช้ปรุงอาหารคือส่วนของดอกและใบ ส่วนของดอกนั้นมีรสเผ็ดร้อน พวกนี้จะช่วยในการขับลม ช่วยเจริญอาหาร เรียกน้ำลายหรือช่วยกระตุ้นน้ำลาย จึงทำให้เกิดความอยากอาหารหรือช่วยเพิ่มความอร่อยของรสอาหาร และช่วยย่อยอาหาร ส่วนของใบนั้นมีรสเอียนเฝื่อน พวกนี้จะช่วยแก้พิษ แก้ริดสีดวง แก้ปวดฟันและปวดศีรษะ แก้โลหิตเป็นพิษ

หมอแผนไทยส่วนใหญ่จะใช้ผักคราดรักษาอาการปวดฟันและฟันผุ โดยเอาดอกและลำต้นสด ตำให้ละเอียดแล้วคั้นกับเกลือ ใช้อมหรืออุดฟันบริเวณที่ปวด หรือใช้ทั้งต้นเอาแบบสด ตำให้ละเอียดแล้วแช่ด้วยบรั่นดีหรือเหล้าขาว 40 ดีกรี เพื่อสกัดเอาตัวยามาใช้ สามารถรักษาอาการปวดฟันได้โดยใช้สำลีชุบตัวยาบีบใส่บริเวณที่มีอาการปวดฟัน หรือใช้เป็นน้ำยาบ้วนปากหรืออม รักษาอาการอักเสบในช่องปาก ต่อมทอนซิลอักเสบ แก้เจ็บคอ ถ้าลองกินดอกสดๆ จะพบว่ามีรสเผ็ดซ่า ทำให้ลิ้นชา ซึ่งใช้ลดอาการปวดฟันได้เช่นกัน

นอกจากนี้ยังใช้ลดอาการปวดบวมกล้ามเนื้อและกระดูก หรืออาการปวดเมื่อยในร่างกาย โดยใช้ทั้งต้นตำให้แหลกเยาะน้ำเปล่าพอชุ่มใช้พอกบริเวณที่ปวดหรือใช้ทำเป็นลูกประคบ

ใช้รักษาผิวหนังเป็นฝี หรือตุ่มพิษ ใช้ทั้งต้นตำกับเหล้า นำมาพอกทาบริเวณที่เป็น

ใช้เป็นยาระบาย ขับปัสสาวะ แก้อาการอักเสบในช่องปาก แก้ปวดฟัน แก้คัน และอาการปวดศีรษะ ใช้รากต้มแล้วนำน้ำมาดื่ม

จากงานวิจัยพบว่าผักคราดฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาช่วยต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านยีสต์ ต้านไวรัส ยับยั้งการหดเกร็งของลำไส้ ลดความดันโลหิต เพิ่มฤทธิ์ของฮีสตามีนในการทำให้ลำไส้หดเกร็ง ปรับปรุงระบบภูมิคุ้มกันฆ่ายุง ฆ่าลูกน้ำยุง ทำให้ชัก เป็นยาชาเฉพาะที่ แก้ปวด ลดความแรง และความถี่ของการบีบตัวของหัวใจห้องบน ยับยั้งการหดตัวของมดลูกซึ่งเหนี่ยวนำด้วย oxytocin



โดยคุณ : oOfonOo เมื่อ 15 ก.พ. 2554 : 09:24:56  

ความเห็นที่ 1
มีงานวิจัยทางด้านสารธรรมชาติทดแทนการใช้สารเคมีทางการเกษตร พบว่าสารสกัดของผักคราดนั้นช่วยหยุดการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลได้ผลดี และช่วยฆ่ายุงได้ดี

ผักคราดหรือผักเผ็ด เป็นพืชวงศ์ COMPO- SITAE มีลักษณะต้นคล้ายคลึงกับผักแครดหรือหญ้าขี้หมา เป็นพืชวงศ์ ASTERACEAE ถ้าดูจากตำราทางพฤกษศาสตร์แล้ว เชื่อว่านักพฤกษศาสตร์น่าจะจัดพืชทั้ง 2 ชนิดในวงศ์เดียวกัน แต่ตอนหลังเปลี่ยนแปลงไปจึงอยู่คนละวงศ์ แต่ลักษณะและสรรพคุณคล้ายคลึงกัน ในด้านสรรพคุณแก้อาการเคล็ดขัดยอก ลดปวดบวม หมอแผนไทยใช้ผักแครดเข้าตำรายาแก้ปวดบวม บ้างทำน้ำมัน ยาหม่อง หรือลูกประคบ ไม่นิยมนำมารับประทาน

ฉะนั้นถ้าจะเก็บตามธรรมชาตินำมาใช้ประโยชน์ก็ต้องสังเกตให้ดีว่าท่านเก็บผักคราดหรือผักแครด

โดย oOfonOo [ 15 ก.พ. 2554 : 09:25:06 ]

Member
204 ศิษย์เก่า และ 54 บุคคลทั่วไป