"สำนักงานศิษย์เก่าสัมพันธ์ มธ." ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "สำนักงานธรรมศาสตร์สัมพันธ์" ตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการจัดตั้งและการแบ่งส่วนงานของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.2559
รู้เท่าทัน 'โรคคอเกร็ง' ปรับพฤติกรรมลดความเสี่ยง



เพราะอวัยวะทุกส่วนของร่างกายมีความสำคัญ หากเกิดความผิดปกติเกิดขึ้นกับส่วนหนึ่งส่วนใดแล้วย่อมส่งผลต่อสุขภาพนำมาซึ่งอุปสรรคในการดำรงชีวิต "คอเกร็ง" อีกอาการความเจ็บป่วยที่อาจถือได้ว่าเป็นภัยเงียบโดยสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศวัย ซึ่งในอาการแข็งเกร็งของกล้ามเนื้อส่งผลให้ร่างกายส่วนนั้นมีรูปร่างผิดปกติไปและเคลื่อนไหวได้จำกัด

รองศาสตราจารย์วิวัฒน์ วจนะวิศิษฐ หัวหน้าภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยา ลัยมหิดล ให้ความรู้เล่าถึงอาการดังกล่าวว่า คอเกร็ง เป็นอาการปวดคออย่างรุนแรงซึ่งทำให้กล้ามเนื้อบริเวณต้นคอและซอกคอหดเกร็งและเมื่อขยับเคลื่อนไหวคอเพียงนิดหน่อยก็จะมีอาการปวด

อาการปวดคออาจจะเกิด ขึ้นอย่างเฉียบพลันและอาจจะเกิดเป็นซ้ำ ๆ ได้ถ้าไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสมอาจนำสู่การปวดเรื้อรังซึ่งกรณีการปวดคอเกร็งเป็นการปวดอย่างเฉียบพลัน สาเหตุมีด้วยกันหลายประการ แต่ที่มักพูดถึงกันเป็นเรื่องของหมอนรองกระดูกคอเสื่อม ซึ่งก็ทำให้เกิดอาการปวดเกร็งลำคอ

"หมอนรองกระดูกเสื่อมของคอพบได้ในคนทั่วไปนับแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป ซึ่งเมื่อหมอนรองกระดูกคอเสื่อม โรคที่จะตามมาด้วย คือกระดูกงอกหรือที่เรียกกันว่าหินปูนเกาะโดยจะเกิดอยู่รอบหมอนรองกระดูกและข้อต่อซึ่งถ้ากระดูกงอกนี้ไปเบียดเส้นประสาทจะทำให้เกิดอันตรายได้

ประเด็นสำคัญคือเมื่อมีอาการปวดเกิดขึ้น ร่างกายจะมีอาการเกร็งทางกล้ามเนื้อซึ่งเมื่อมีอาการดังกล่าวเพื่อบรรเทาความเจ็บปวดเบื้องต้นต้องหยุดการเคลื่อนไหวโดยอาจนอนพักหรือใส่ปลอกคอช่วยพยุง อาจทานยาแก้ปวด ใช้ถุงน้ำร้อนประคบก็จะช่วยลดคลายอาการปวด กล้ามเนื้อก็จะคลายตัว"

ส่วนกรณีที่เกิดการปวดเพิ่มขึ้นและปวดไล่จากหัวไหล่ไปถึงแขนลงไปถึงปลายมือ หากมีอาการปวดร้าวลักษณะนี้ก็อาจแสดงให้เห็นว่ามีความเสื่อมเหล่านี้มีมากขึ้น มีหินปูนเข้าไปเบียดกดรากประสาทแขนทำให้เกิดอาการปวด รวมทั้งถ้ามีอาการชาร่วมด้วยก็ไม่ควรนิ่งนอนใจควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด อีกภาวะที่ถือว่ามีความเป็นอันตรายสูงคือ การกดไขประสาท ซึ่งอาจทำให้เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาตได้

"การสังเกตว่ามีการกดทับไขประสาทบริเวณนี้หรือไม่ เบื้องต้นอาจสังเกตได้จากขาทั้งสองข้างซึ่งหากมีอาการเกร็ง กระตุกของขา เดินไม่ถนัด โดยอาจทดสอบด้วยตนเองได้ด้วยการเดินต่อเท้าก้าวต่อก้าว หากไม่สามารถเดินทรงตัวได้ก็แสดงว่ามีอาการเบียดกดประสาทไขสันหลังก็ต้องรีบรับการรักษาและในกรณีนี้ก็มักต้องได้รับการผ่าตัด

กรณีการปวดธรรมดา ปวดบริเวณต้นคอมีกล้ามเนื้อเกร็ง รวมทั้งกลุ่มที่ปวดร้าวมาที่ปลายแขนจากกดทับรากประสาทส่วนใหญ่ 90 เปอร์เซ็นต์ไม่ต้องผ่าตัด สามารถรักษาได้โดยการทำกายภาพบำบัด ทานยาแก้ปวด ลดอักเสบ ฯลฯ ส่วนใหญ่จะหายจากอาการดังกล่าวได้"

โดยคุณ : oOfonOo เมื่อ 10 ก.พ. 2554 : 08:47:25  

ความเห็นที่ 1


การสังเกตอาการสิ่งนี้มีความสำคัญ หากพบว่ามีการปวดร้าวมาที่แขน กล้ามเนื้ออ่อนแรง ชา การเดินผิดปกติทรงตัวได้ไม่เหมือนเดิม ฯลฯ การสังเกตเหล่านี้จะช่วยให้รู้ว่ากรณีไหนมีความเร่งด่วนควรต้องรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษา ซึ่งการรักษาดังที่กล่าวนั้นมีด้วยกันหลายวิธี

นอกจากนี้พฤติกรรม ที่ผิดไปจากปกติ ไม่ว่าจะเป็นการนั่งทำงาน เขียนหนังสือ พิมพ์งาน นั่งโต๊ะกับเก้าอี้ที่ไม่เหมาะสมกัน อย่างการเขียนหนังสือติดต่อกันหลายชั่วโมง พิมพ์คอมพิวเตอร์นานๆ ก้มคอทำงานอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนานก็อาจทำให้มีความเสื่อมของกระดูกคอเกิดขึ้นได้ง่าย

สาเหตุของการเกร็งของกล้ามเนื้อในกรณีอุบัติเหตุการเล่นกีฬา ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้มีการอักเสบของกล้ามเนื้อคอหรือเกิดจากการเอี้ยวคอผิดท่าก็อาจเกิดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อคอได้เช่นเดียวกัน

นอกจากนี้อีกภาวะที่พบบ่อยครั้งและระยะหลังก็มีการกล่าวถึงกันมากขึ้น คือ ภาวะพังผืดกล้ามเนื้ออักเสบ ซึ่งก็ทำให้เกิดอาการปวดเกร็งของกล้ามเนื้อโดยมักจะเกิดขึ้นได้นับแต่ บริเวณท้ายทอยด้านหลังทั้งสองข้าง มาถึงต้นคอ สะบักทั้งสองข้าง รวมถึงหัวไหล่ ซึ่งลักษณะของการปวดดังกล่าวนี้จะมีลักษณะเฉพาะที่สามารถตรวจพบได้ที่เรียกว่าพังผืดกล้ามเนื้ออักเสบที่มีจุดกดเจ็บ ภาวะนี้เป็นได้ทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง แต่มักจะไม่ก่อให้เกิดอันตรายรุนแรงต่อร่างกาย นอกจากจะสร้างความรำคาญ ใช้งานไม่ถนัด อ่อนเพลียง่ายและส่วนใหญ่จะปวดมากตอนกลางคืน ทำให้นอนไม่หลับพักผ่อนไม่เพียงพอ

ในความเจ็บปวดดังกล่าวที่เป็นเรื้อรังยังพบว่ามีความสัมพันธ์ต่อจิตใจของผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการปวดเรื้อรังมักจะพบอาการซึมเศร้าร่วมด้วย แต่อย่างไรก็ตามสามารถที่จะ รักษาให้หายขาดได้ภายในระยะเวลาอันสั้นหากได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง เนื่องจากสาเหตุเกิดจากพังผืดของกล้ามเนื้อมีการหดตัว เกร็งเป็นก้อน หลักการรักษาก็จะต้องผ่อนคลายกล้ามเนื้อให้กล้ามเนื้อเหยียดตัวออก

การรักษาเบื้องต้นก็จะมีท่ากายบริหารที่สามารถปฏิบัติได้โดยง่าย รวมทั้งการใช้ความร้อนประคบหรืออาจใช้การนวดกดจุดคลายกล้ามเนื้อที่มีอาการเกร็ง หรือการฉีดยาชาลดการปวดก็เป็นอีกส่วนหนึ่งในการรักษาให้ห่างหายจากอาการปวดเหล่านี้

ดังนั้นก่อนจะต้องเสี่ยงหรือเผชิญกับโรคคอเกร็ง อาการปวดคอที่ไม่เพียงสร้างความทุกข์ทรมานความเจ็บปวดส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันก็คงจะต้อง ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเดิมที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย หันมาสนใจดูแลรักษาสุขภาพไม่มองข้ามความสำคัญของการพักผ่อนที่เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ร่วมกับกายบริหารเพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรง รวมทั้งการรับประทานอาหารที่สะอาดหลากหลายมีประโยชน์ต่อร่างกายซึ่งนอกจากจะช่วยให้ห่างไกลจากอาการดังกล่าวแล้วยังเป็นอีกเกราะป้องกันโรคภัยต่างๆ อีกด้วย


โดย oOfonOo [ 10 ก.พ. 2554 : 08:48:59 ]

Member
205 ศิษย์เก่า และ 54 บุคคลทั่วไป