รูปแบบของยาระบายมีอะไรบ้าง
ยารับประทาน อาจเป็นยาเม็ด เช่น ยาเม็ดไบซาโคดิล ยาเม็ดมะขามแขก ก็ต้องกลืนยาทั้งเม็ด ห้ามบดหรือเคี้ยวก่อนกลืน อาจเป็นยาชง เช่น ยาชงมะขามแขก ซึ่งต้องชงกับน้ำ ก่อนดื่ม หรืออาจเป็นยาน้ำแขวนตะกอน เช่น ยามิลค์ออฟแมกนีเซีย หรือยาน้ำแขวนละออง เช่น ยาระบายอิมัลชันของน้ำมันแร่และแมกนีเซียมไฮดรอกไซต์ ซึ่งยาน้ำทั้งสองรูปแบบนี้ต้องเขย่าขวดทุกครั้งก่อนรับประทานยา ส่วนใหญ่แล้วให้รับประทานยาวันละ 1 ครั้ง ก่อนนอน
ยาเหน็บทวาร ยาจะเป็นลักษณะแท่งใช้สอดในทวารหนักวันละ 1 ครั้ง ก่อนนอน เช่น ยาเหน็บไบซาโคดิล ยาเหน็บกลีเซอร์รีน ซึ่งจะมีทั้งขนาดยาสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ยาเหน็บทวารนี้จะหลอมละลายเมื่อโดนความร้อน จึงต้องเก็บยาเหน็บทวารที่ยังไม่ใช้ไว้ในที่เย็น ไม่ให้โดนความร้อนหรือแสงโดยตรง หากในฉลากยาหรือเอกสารกำกับยามีข้อความระบุว่า ให้เก็บยาเหน็บในตู้เย็น ช่องธรรมดา ไม่เก็บในช่องแช่แข็ง
ยาสวนทวาร เช่น ยาสวนโซเดียมคลอไรด์ซึ่งมีทั้งขนาดยาสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ ยาจะอยู่ในรูปแบบน้ำและถูกบรรจุไว้ในภาชนะพลาสติกทรงลูกบอลที่ด้านหนึ่งมีคอยื่นออกมาเป็นหลอดปลายแหลม เมื่อจะใช้ก็เปิดฝาที่ปลายคอออก แล้วสอดเข้ารูทวารหนัก บีบลูกบอลดันน้ำยาออกจนหมดแล้วดึงลูกบอลออก กลั้นไว้สักพักจะรู้สึกปวดและอยากถ่ายอุจจาระ
หากไม่มีความจำเป็นในการใช้ยาระบาย ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาด้วยการรับประทานผัก ผลไม้ อาหารที่มีกากใยอาหารสูง เช่น มะละกอสุก พรุน แก้วมังกรกล้วยน้ำว้าสุก เป็นต้น ดื่มน้ำให้มากขึ้นและออกกำลังกายสม่ำเสมอ แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้ยาระบาย ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์หรือเภสัชกร ที่สำคัญการใช้ยาระบายทุกชนิดไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานเพราะอาจทำให้ลำไส้ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ส่งผลให้ต้องใช้ยาระบายตลอดไม่สามารถขับถ่ายอุจจาระได้เองตามปกติ
โดย oOfonOo [ 31 ม.ค. 2554 : 11:47:33 ]