กระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกในแทบทุกด้าน ทั้งสังคม เศรษฐกิจ เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ถาโถมเข้ามาชนิดที่หลายคนตั้งรับกันแทบไม่ทัน ยิ่งเด็กและเยาวชนด้วยแล้วแทบไม่ต้องพูดถึงเลยว่า จะต้องรับกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงได้เพียงใด
ปัญหาที่เด็กและเยาวชนเจออยู่ในเวลานี้ทั้งปัญหาความรุนแรง แก่งแย่งแข่งขัน ขาดการเอื้อเฟื้อแบ่งปันกันในสังคม ไม่กล้าที่จะทำความดีและแสดงความคิดเห็นในพื้นที่สาธารณะ อาการต่างๆ เหล่านี้ตามหลักจิตวิทยาของเด็กและเยาวชนทางการแพทย์ระบุว่า เด็กและเยาวชนกำลังป่วยเป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องทางสังคม (SIDS = Social Immune Deficiency Syndrome)
โรคภูมิคุ้มกันทางสังคมบกพร่องนั้น นพ.สุริยเดว ทริปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชน มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า สาเหตุของโรคนี้มาจากหลายปัจจัยทั้งตัวเด็กขาดทักษะการใช้ชีวิต สิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็กมีปัญหา โรงเรียนระบบการศึกษามีปัญหาเด็กอยู่ในระบบการแข่งขันกันมากเกินไป ขาดการแบ่งปัน ขณะที่ชุมชนไม่เข้มแข็งอยู่กันแบบตัวใครตัวมัน และเพื่อนของเด็กๆ ขาดทักษะการใช้ชีวิตเหมือนกัน
หากจะเปรียบเทียบความร้ายแรงของโรคภูมิคุ้มกันทางสังคมบกพร่องนั้น นพ.สุริยเดวอธิบายว่า ความร้ายแรงของโรคนี้น่ากลัวยิ่งกว่าโรคเอดส์ เพราะโรคเอดส์จะเกิดจากภูมิคุ้มกันบกพร่องทางร่างกาย ซึ่งได้รับเชื้อไวรัสเข้ามา ขณะที่โรคภูมิคุ้มกันทางสังคมบกพร่องนั้นจะเกิดจากความบกพร่องของสังคมในหลายๆ ส่วน ส่งผลกระทบต่อทุกคนในสังคม ซึ่งต้องใช้กระบวนการและวิธีการเยียวยาที่ยาวนานกว่า
ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องทางสังคมของเด็กและเยาวชนไทย จากผลสำรวจตัวชี้วัดต้นทุนชีวิต ยังพบปัญหาที่ยังน่าห่วง 3 เรื่องคือ เรื่องค่านิยมการทำความดี เนื่องจากเยาวชนเห็นต้นแบบการทำความดีจากผู้ใหญ่น้อยลง ทำให้เด็กมีความเข้าใจว่า ไม่จำเป็นต้องทำความดีก็สามารถอยู่ในสังคมได้ ขณะที่เรื่องการแสดงออกตามวิถีประชาธิปไตยก็ยังมีปัญหา เยาวชนจะไม่กล้าแสดงความคิดเห็นในเวทีสาธารณะ รวมทั้งข้อเสนอแนะต่างๆ ทำให้ไม่เกิดการเรียนรู้ในเรื่องสิทธิต่างๆ และเรื่องการใช้ชีวิตแบบจิตอาสา เยาวชนทำทุกอย่างด้วยระบบการแข่งขัน ขาดความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน ส่งผลให้สังคมไม่มีความเอื้ออาทร
แม้โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องทางสังคมจะดูร้ายแรงและยากจะเยียวยา แต่ใช่ว่าจะไม่มีทางแก้และเยียวยาได้ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติ เพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชน มหาวิทยาลัยมหิดล ยอมรับว่า การเยียวยาแก้ไขสามารถทำได้ทันทีและใช้เวลาไม่นาน หากรัฐบาลมีความจริงจังที่จะแก้ปัญหา ปัจจัยสำคัญคือต้องอาศัยพลังจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งสามารถสร้างกลไกขึ้นมารองรับได้ไม่ยาก โดยรูปแบบควรจัดตั้งการทำงานแบบสมัชชาท้องถิ่น จัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังทางสังคมและวัฒนธรรมระดับท้องถิ่น มีงบประมาณรองรับ มีพนักงานเจ้าหน้าที่เข้ามาทำงานในท้องถิ่นอย่างชัดเจน รวมทั้งฟื้นการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาครอบครัวและสภาเด็กและเยาวชนระดับตำบลให้มีความเข้มแข็ง ผ่านการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนในท้องถิ่นในทุกเรื่อง
โดยคุณ : oOfonOo เมื่อ 20 ม.ค. 2554 : 08:46:40