ดังได้กล่าวไปแล้ว ตั้งแต่ก่อนจะเข้าสู่เทศกาลปีใหม่... ว่าสถิติอุบัติเหตุบนท้องถนนของไทย ที่บาดเจ็บ พิกลพิการ และเสียชีวิตกันมาก สาเหตุอันดับหนึ่งที่นำโด่งมากว่าใครเพื่อน คือ "เมาแล้วขับ"
สถิตินี้ยืนยงมาหลายปี และยังคงทำสถิติยืนยาวต่อไปอีกหนึ่งปี
ล่าสุด... ข้อมูลจากศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (ศปถ.) ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2554 ระบุว่า สถิติอุบัติเหตุบนท้องถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ ระหว่างวันที่ 29 ธ.ค.2553 - 2 ม.ค. 2554 มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นรวม 2,881 ครั้ง (ลดลงจากปี 2553 จำนวน 50 ครั้ง)
ยอดผู้เสียชีวิตรวม 281 คน (เพิ่มขึ้นจากปี 2553 จำนวน 2 คน) และมีผู้บาดเจ็บ 3,091 คน
สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด อันดับหนึ่ง ได้แก่ เมาสุรา ร้อยละ 35 รองลงมา คือ ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 22
โอกาสนี้ ขอแสดงความเสียใจกับญาติมิตรของผู้เสียชีวิตในอุบัติเหตุร้ายแรงทั้งหลาย โดยเฉพาะผู้ตกเป็นเหยื่อของ "เมาแล้วขับ" (ไม่ว่าจะเมาแล้วขับเอง หรือได้รับอันตรายจากคนอื่นที่เมาแล้วขับ)
แต่สิ่งที่คนซึ่งยังมีชีวิตอยู่ แม้ว่าจะบาดเจ็บ พิการ หรือเศร้าโศกเสียใจเพียงใด ยังคงสามารถทำประโยชน์ได้ เพื่อป้องกันมิให้คนที่รักของผู้อื่นต้องเผชิญชะตากรรมที่เจ็บปวดเช่นนี้อีก (อย่างน้อยก็ลดโอกาส) ก็คือ ร่วมกันคิดอ่านและลงมือทำ เพื่อลดสถิติอันน่าหดหู่นี้ลงให้ได้
สถิติ "เมาแล้วขับ" ที่ยังคงเป็นสาเหตุอุบัติเหตุบนท้องถนนอันดับหนึ่งอย่างต่อเนื่องในประเทศไทยเวลานี้ ไม่ใช่เรื่องปกติ ธรรมดา ที่ไม่สามารถจัดการให้ลดลงได้
วานนี้...เพิ่งได้รับข้อมูลที่น่าสนใจมากจากกัลยาณมิตร บอกว่า รศ.พิเชษฐ เมาลานนท์ แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนีกาตะ ประเทศญี่ปุ่น ท่านค้นคว้าและติดตามการแก้ปัญหา "เมาแล้วขับ" ในญี่ปุ่น แล้วจัดส่งมาให้พิจารณาเปรียบเทียบกับเรื่องราวในประเทศไทย
สรุปความได้ว่า ปีนี้ ในประเทศญี่ปุ่น เพิ่งจะลดสถิติคนตายจากอุบัติเหตุบนท้องถนนลงไปได้อีกหนึ่งปีเท่ากับว่า สามารถลดลง 10 ปีติดต่อกัน
จากเดิมในปี 1970 ที่เคยมีการตายถึง 16,765 ราย ปีนี้ ลดลงเหลือต่ำกว่า 1 ใน 3 โดยเฉพาะจำนวนคนที่ตายจาก "เมาแล้วขับ" ปีนี้ ลดลงอีก 10 ราย เหลือ 282 ราย ซึ่งเป็นสถิติที่น้อยที่สุด นับตั้งแต่เริ่มมีการเก็บข้อมูลในปี 1990 เป็นต้นมา
ความสำเร็จข้างต้นนั้น มิใช่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ หรือโชคช่วย สำหรับเรื่อง "เมาแล้วขับ" ที่ผ่านมา ปรากฏว่า ตำรวจญี่ปุ่นต้องบังคับใช้กฎหมายหนักกว่าเดิม เมื่อจับผู้ใดในข้อหา "เมาแล้วขับ" ตำรวจจะต้องสอบปากคำทั้งคนขับ, ผู้ร่วมนั่งมาในรถ, เจ้าของสถานบริการขายสุรา, และพยานบุคคลทุกราย ในเวลาที่คนขับดื่มสุรา ทั้งนี้ เพราะกฎหมายญี่ปุ่นให้เอาผิดกับผู้ให้สุราดื่ม, ผู้สั่งให้ขับรถ และผู้ที่ร่วมนั่งมาในรถด้วย
โดยคุณ : oOfonOo เมื่อ 6 ม.ค. 2554 : 08:46:45