“มะเร็ง” ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในโรคที่ทุกคนไม่อยากเป็น เพราะต่างก็ทราบถึงความร้ายกาจของโรคนี้ว่ารุนแรงขนาดไหนและผู้ที่ป่วยจะต้องประสบกับความทุกข์ทรมานมากเพียงใด และโดยมากแล้ว ชนิดของมะเร็งที่คุ้นหูคนไทยส่วนใหญ่ หนีไม่พ้น มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งตับ เพราะถือเป็นมะเร็งที่พบมาก แต่เมื่อประมาณ 4-5 ปีที่ผ่านมา ได้มีมะเร็งชนิดใหม่เกิดขึ้นในเมืองไทย นั่นก็คือ “มะเร็งไต”
“ในสหรัฐอเมริกามีข้อมูลระบุว่า ปี 2553 มีผู้ป่วยใหม่ที่เป็นโรคมะเร็งไต 58,240 ราย เสียชีวิต 13,040 ราย และทั่วโลกมีผู้ชายที่ป่วยด้วยโรคนี้ 4.75 รายต่อประชากรแสนคน และผู้หญิง 2.5 รายต่อประชากรแสนคน ขณะที่ในประเทศไทยมีผู้ชายป่วยเป็นมะเร็งไต 1.6 รายต่อประชากรแสนคน ผู้หญิง 0.8 รายต่อประชากรแสนคน และจะพบผู้ที่ป่วยด้วยโรคนี้ในวัยผู้สูงอายุประมาณ 50-70 ปี”
ผศ.นพ.วิเชียร ศรีมุนินทร์นิมิต หัวหน้าสาขาวิชาเคมีบำบัด ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ให้ภาพแบบคร่าวๆ ของอุบัติการณ์เกิดมะเร็งไตในประเทศต่างๆ ก่อนจะอธิบายต่อว่า มีปัจจัยเสี่ยงบางอย่างที่ทำให้เกิดโรคนี้ได้ เช่น การสูบบุหรี่ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรคนี้ประมาณ 20-30 เปอร์เซ็นต์ โรคอ้วนก็เชื่อว่าเป็นหนึ่งปัจจัยที่เกิดมะเร็งไตได้ หรือคนที่ทำงานเกี่ยวกับสารเคมีบางอย่าง เช่น แร่ใยหิน แคดเมียม รวมถึงการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ก็มีโอกาสเป็นได้เช่นกัน
ขณะที่อาการของการเกิดโรคมะเร็งไตนั้น ผศ.นพ.วิเชียร บอกว่า ผู้ป่วยจะมีปัสสาวะเป็นเลือด ปวดที่เอว คลำเจอก้อนที่บริเวณเอว ซีด ไข้เรื้อรัง เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
“การปัสสาวะเป็นเลือดไม่ได้เจาะจงว่ามาจากการเป็นมะเร็งไตได้อย่างเดียว ภาวะอื่นก็เป็นได้ เช่น นิ่วในไต มะเร็งที่ท่อไต คนไข้ที่มาตรวจแล้วเจอมะเร็งไตส่วนใหญ่จะเจอโดยความบังเอิญ คือ มาตรวจโรคอื่นแล้วเจอ ซึ่งเมื่อเจอในระยะเริ่มต้นการรักษาจึงได้ผลดี”
กระนั้น ผศ.นพ.วิเชียร ก็ได้ให้ข้อมูลถึงการอยู่รอดเมื่อทราบว่า เป็นมะเร็งไตว่า ขึ้นอยู่กับระยะของโรค ถ้าเจอในระยะเริ่มต้นโอกาสที่จะมีชีวิตอยู่เกิน 5 ปีก็มีสูง โดยสามารถแบ่งระยะของมะเร็งไตได้ 4 ระยะ คือ ระยะที่ 1 จะมีขนาดก้อนน้อยกว่า 7 เซนติเมตรอยู่เฉพาะในไตไม่ลุกลามไปส่วนอื่น คนไข้สามารถมีชีวิตอยู่รอดเกิน 5 ปี ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ ระยะที่ 2 ก้อนมีขนาดมากกว่า 7 เซนติเมตร แต่ยังอยู่เฉพาะในไต ผู้ป่วยมีโอกาสอยู่เกิน 5 ปี ประมาณ 85 เปอร์เซ็นต์ ระยะที่ 3 มะเร็งมีการลุกลามไปที่เส้นเลือดดำ หรือกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลือง 1 ต่อม คนไข้มีชีวิตอยู่รอดเกิน 5 ปี ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ และระยะที่ 4 มีการลุกลามไปยังอวัยวะใกล้เคียง กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองมากกว่า 1 ต่อม ผู้ป่วยมีโอกาสอยู่รอดเกิน 5 ปี 10 เปอร์เซ็นต์
นอกจากนี้ หัวหน้าภาควิชาเคมีบำบัด รพ.ศิริราช ยังบอกถึงแนวทางการรักษาที่ปัจจุบันสามารถทำได้ 5 วิธี ได้แก่ การผ่าตัด การฉายรังสี การใช้ยาเคมีบำบัด การให้ยากระตุ้นภูมิคุ้มกันร่างกาย และการรักษาแบบมุ่งเป้า ซึ่งในการรักษาว่าจะใช้วิธีไหนก็ขึ้นอยู่กับระยะของโรค
โดยคุณ : oOfonOo เมื่อ 5 ม.ค. 2554 : 08:32:44