"สำนักงานศิษย์เก่าสัมพันธ์ มธ." ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "สำนักงานธรรมศาสตร์สัมพันธ์" ตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการจัดตั้งและการแบ่งส่วนงานของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.2559
'ชนท้าย' มหันตภัยบนท้องถนน

"อุบัติเหตุชนท้าย กรณีรถจอดข้างทาง"ภัยใกล้ตัวที่กำลังคุกคามความปลอดภัยทางถนนของสังคมไทย โดยเฉพาะการชนท้ายในกรณีของรถเสียที่จอดอยู่บริเวณไหล่ทาง ซึ่งเกิดจากความประมาทของผู้จอดรถ และผู้ขับขี่ยานพาหนะบนท้องถนนที่มองไม่เห็นรถที่จอดอยู่ ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุการ "ชนท้าย" บ่อยครั้งและมีผู้บาดเจ็บเสียชีวิต

ปัญหาดังกล่าวไม่ได้เกิดจากความตระหนักในระดับบุคคลเท่านั้น แต่รวมถึงการขาดมาตรการที่เข้มงวดและจริงจังในการจัดการปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพซึ่งทางภาครัฐอาจจำเป็นต้องแสดงความรับผิดชอบต่อการแก้ไขและป้องกันภัยดังกล่าวในเชิงรุกอย่างจริงจัง

"ชนท้าย" เป็นรูปแบบการชนซึ่งพบเห็นได้บ่อยจนเกิดเป็นความคุ้นชินในสังคมไทย หากเป็นการชนท้ายบริเวณทางแยก มักมีความรุนแรงไม่มาก แต่หากทางตรงที่ผู้ขับขี่ ขับมาด้วยความเร็ว "การชนท้าย" จะส่งผลให้เกิดความรุนแรงอย่างมากเพราะเป็นการปะทะกันระหว่างวัตถุที่เคลื่อนที่มาด้วยความเร็วกับวัตถุที่หยุดนิ่ง ความรุนแรงย่อมมากกว่าการชนของวัตถุที่มีการเคลื่อนที่ไปในทิศทางเดียวกัน

หาก "คน" กับ "รถ" ที่วิ่งมาชนโดยไม่ได้แตะเบรก คงไม่ต้องใช้จินตนาการใดๆ ในการประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการปะทะ

ตัวอย่างความสูญเสียจากความรุนแรงของการ "ชนท้าย" มีให้เห็นซ้ำซากและหากเจ้าของรถมีพฤติกรรมเสี่ยงประกอบด้วย อาทิ พักผ่อนน้อย เมาสุรา ย่อมส่งผลต่อการตัดสินใจในการหยุดรถอย่างปลอดภัย นั่นแปลว่า กว่าเท้าจะแตะเบรก ก็อาจไม่ทันการในการควบคุมพาหนะให้พ้นเหตุอันตรายได้

ดังตัวอย่างล่าสุดของเหตุการณ์เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ที่จังหวัดสิงห์บุรี เกิดเหตุรถจักรยานยนต์ชนท้ายรถปิกอัพบรรทุกหน่อไม้ ซึ่งเกิดเหตุยางแตกจอดอยู่ข้างทางเพื่อเปลี่ยนยาง ซึ่งแม้ว่ารถบรรทุกจะจอดอยู่บริเวณไหล่ทาง ซึ่งดูแล้วก็น่าจะปลอดภัย แต่เนื่องจากรถที่บรรทุกจอดไม่ได้ให้สัญญาณไฟกะพริบ หรือกรวยจราจรคาดแถบสะท้อนแสง จึงเป็นเหตุให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ซึ่งเมาสุรา ที่ขับรถมาด้วยความเร็วชนท้ายรถบรรทุกอย่างจังและเสียชีวิตคาที่ทันที

ในวันถัดมา 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ที่จังหวัดมุกดาหาร หญิงท้องแก่ขับขี่รถจักรยานยนต์ชนท้ายรถบรรทุกพร้อมลูกที่อยู่ในครรภ์ 5 เดือน เหตุจากการไม่มีสัญญาณไฟท้าย หรืออุปกรณ์เตือนภัยข้างทางเช่นเดียวกัน ได้คร่าชีวิตทั้งสองแม่ลูกทันทีที่เกิดเหตุ



โดยคุณ : oOfonOo เมื่อ 20 ธ.ค. 2553 : 08:55:55  

ความเห็นที่ 1
ภาพความสูญเสียที่เกิดขึ้น เป็นเครื่องชี้ชัดถึงความสำคัญของอุปกรณ์ป้องกันอุบัติเหตุ เช่น สัญญาณในกรณีฉุกเฉิน สัญญาณไฟกะพริบ ที่ควรเป็นอุปกรณ์สามัญประจำรถ เพื่อให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะอื่นๆ ที่สัญจรในบริเวณดังกล่าว สามารถมองเห็นและสังเกตยานพาหนะข้างทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสามารถหยุดรถในระยะที่ปลอดภัยช่วยลดโอกาสเกิดการชนท้ายได้ เป็นสัญญาณว่าถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐเอกชน และผู้ใช้รถ ควรตระหนักถึงความสำคัญของอุปกรณ์เหล่านี้

โดยกรมการขนส่งทางบกควรมีมาตรการบังคับในเรื่องขององค์ประกอบอุปกรณ์ส่วนควบของยานพาหนะ โดยให้มีการติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันการมุดลอดของยานพาหนะขนาดใหญ่และมีอุปกรณ์สะท้อนแสงติดตั้งท้ายพาหนะให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อจำเป็นต้องจอดรถบริเวณข้างทางในกรณีฉุกเฉิน

ขณะที่พาหนะขนาดเล็ก เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล ควรบังคับให้มีการติดตั้งอุปกรณ์สะท้อนแสงและกรวยจราจรคาดแถบสะท้อนแสงเพื่อใช้ในการให้สัญญาณเมื่อพาหนะจอดข้างทางจากการชำรุด ซ่อมบำรุง หรือเหตุอันไม่สามารถขับขี่ต่อไปได้

ผู้ขับขี่เองควรตระหนักถึงภัยจากอุบัติเหตุกรณีชนท้าย โดยให้ความสำคัญต่อองค์ความรู้ในการขับขี่ให้ปลอดภัยไม่ว่าจะเป็นการเว้นระยะห่าง จากรถคันหน้า การให้สัญญาณไฟเมื่อต้องการเปลี่ยนช่องจราจร การบรรทุกของที่ยื่นยาวออกจากตัวยานพาหนะและโดยเฉพาะการจอดรถบริเวณข้างทาง

ขณะที่บริษัทผลิตและจำหน่ายรถยนต์ ควรจำหน่ายพาหนะด้วยการส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้ใช้รถซึ่งนอกจากเป็นมาตรการสำคัญในการลดความเสี่ยงแล้ว ยังเป็นการคืนกำไร สร้างภาพลักษณ์ และรักษาความเป็นผู้นำทางการตลาดของตนเองได้ด้วย

การให้ความสำคัญกับมหันตภัยจาก "การชนท้าย" ภัยที่อาจดูเหมือนไม่อันตรายแต่หากสังคมทุกภาคส่วนยังคงละเลยต่อปัญหาดังกล่าว ความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากรูปแบบการชนในลักษณะนี้ คงกลายเป็นสาเหตุหลักในการคร่าชีวิตของผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างไม่จบสิ้นและกลายเป็นภัยพิบัติทางสังคมในที่สุด


โดย oOfonOo [ 20 ธ.ค. 2553 : 08:56:03 ]

Member
204 ศิษย์เก่า และ 54 บุคคลทั่วไป