
เด็กหกล้มถือเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าคนแก่ล้มถือเป็นเรื่องใหญ่ที่น่ากลัวสำหรับทุกคน เพราะโอกาสในการฟื้นฟูสภาพร่างกายให้คืนมาเหมือนเดิมยาก
จากงานวิจัยทางการแพทย์พบข้อมูลที่น่าตกใจว่า ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไปมีโอกาสล้ม 1 ใน 3 และคนที่ล้ม 1 ใน 4 ถึงขั้นต้องส่งตัวเข้ารักษาในโรงพยาบาลครึ่งหนึ่งของกลุ่มนี้มีชีวิตอยู่ต่อ ส่วนที่เหลือเกิดโรคแทรกซ้อนจนถึงขั้นเสียชีวิต สาเหตุก็มาจาก "หกล้ม" นั่นแหละ ซึ่งลูกหลานสามารถช่วยป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เลวร้ายนี้และเตรียมความพร้อมผู้สูงอายุให้รู้เท่าทันความเสี่ยงที่เป็นต้นเหตุของปัญหาได้ไม่ยาก
ศ.พญ.อารีรัตน์ สุพุทธิธาดา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า แนวทางกระตุ้นเตือนผู้สูงอายุให้ระมัดระวังตัวที่ดีอย่างหนึ่งก็คือ การทดสอบว่า ตนเองมีความเสี่ยงในการหกล้มหรือไม่ สามารถทดสอบด้วยตนเอง ได้ 2 วิธีดังต่อไปนี้
วิธีแรก ให้ผู้สูงอายุถอดรองเท้าแล้วยืนบนพื้นเรียบ ตามองตรง มือทั้งสองข้างไขว้แตะไหล่ด้านตรงข้าม ลืมตา เริ่มจับเวลาเมื่อยกขาข้างหนึ่งขึ้น โดยข้อสะโพกเหยียดตรง ข้อเข่างอ 90 องศา และหยุดการจับเวลาเมื่อเท้าข้างที่แตะพื้นหรือมือหลุดออกจากการแตะไหล่ โดยให้ทำการทดสอบ 3 ครั้งแล้วหาค่าเฉลี่ยแล้วทำการทดสอบเช่นเดิมกับขาอีกข้าง ถ้ายืนได้นานน้อยกว่า 30 วินาที ถือว่ามีความเสี่ยงในการล้ม
วิธีที่สอง ให้ผู้สูงอายุยืนหันหลังให้กำแพงแล้วเอื้อมมือไปด้านหน้าให้ไกลที่สุด วัดระยะทางที่สามารถเอื้อมได้ ถ้ามากกว่า 10 นิ้วมีความเสี่ยงต่อการหกล้มน้อย ถ้าเอื้อมได้ 6 - 10 นิ้วถือว่ามีความเสี่ยงต่อการหกล้มมากกว่าปกติ 2 เท่า แต่ถ้าน้อยกว่า 6 นิ้วมีความเสี่ยงต่อการหกล้มมากกว่าปกติ 4 เท่า การตรวจคัดกรองความเสี่ยง จะสามารถลดการหกล้มลงได้ 25 - 39% เพราะมีวิธีป้องกันได้อย่างเหมาะสม
ศ.พญ.อารีรัตน์ แนะนำว่า หลังทดสอบแล้วพบว่า ปู่ย่าตายายเข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำในการดูแลที่ถูกต้อง เนื่องจากแต่ละคนมีปัญหาที่แตกต่างกัน แนวทางหนึ่งที่น่าจะก่อผลดีและทำได้รวดเร็วและง่ายที่สุดก็คือ การฝึกทรงตัวแบบง่ายๆ ด้วยการใช้มือจับเก้าอี้ไว้ข้างหนึ่ง ยกขาค้างไว้ข้างหนึ่งให้นับ 1 - 10 แล้ววางลง หรือยืนจับโต๊ะข้างหน้าเขย่งปลายเท้า
ส่วนอีกท่าหนึ่งคือมองไปข้างหน้าลุกขึ้นยืน ถือเป็นการฝึกสายตาและคำสั่งของสมองในการนั่งลงลุกขึ้นยืนจะได้ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ รวมทั้งการนั่งโยกฟิตบอลไปมาช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นและการทรงตัวของร่างกาย ถือเป็นเกราะป้องกันการหกล้มที่ดี ซึ่งควรฝึกสม่ำเสมอหากฝึกแบบนี้ทุกวันทำให้ผู้สูงอายุทรงตัวดีขึ้น ที่สำคัญสามารถทำเองที่บ้านได้ยกเว้นกรณีป่วยเป็นโรคทางสมอง พาร์กินสัน อาจจำเป็นต้องฝึกแบบเข้มข้น ต้องอาศัยอุปกรณ์และนักกายภาพคอยดูแลใกล้ชิด
โดยคุณ : oOfonOo เมื่อ 17 พ.ย. 2553 : 09:32:010