"สำนักงานศิษย์เก่าสัมพันธ์ มธ." ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "สำนักงานธรรมศาสตร์สัมพันธ์" ตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการจัดตั้งและการแบ่งส่วนงานของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.2559
'เครียด'จากน้ำท่วม

จากสถานการณ์น้ำท่วมในขณะนี้ นอกจากโรคทางกายแล้ว ผู้ประสบภัยจำนวนมากต่างเกิดความเครียด
นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่าความเครียดเป็นกลไกทางจิตใจที่เกิดขึ้นได้ทั่วไปเมื่อเผชิญกับสถานการณ์ฉุกเฉิน จากการออกหน่วยสุขภาพจิตเคลื่อนที่ไปให้บริการผู้ประสบภัย พบว่า บางคนนอนไม่หลับ ปวดศีรษะหงุดหงิด ใจสั่น แน่นหน้าอก ไม่มีสมาธิ โมโหง่าย หลง ๆลืม ๆ ปวดท้อง หรือที่เรียกว่า เครียดลงกระเพาะอาหาร
วิธีประเมินความเครียดอ่านหัวข้อข้างล่างนี้ แล้วสำรวจดูว่าในระยะ 6 เดือนที่ผ่านมามีเหตุการณ์ในข้อใด จาก 20 ข้อคำถามที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ เกิดขึ้นกับตัวคุณบ้าง ถ้าข้อไหนไม่ได้เกิดขึ้นให้ข้ามไปไม่ต้องตอบ แต่ถ้ามีเหตุการณ์ในข้อใดเกิดขึ้นกับตัวคุณให้ประเมินว่าคุณมีความรู้สึกอย่างไรต่อเหตุการณ์นั้นและให้คะแนน (ตั้งแต่ 1-5 คะแนน) เป็นข้อ ๆ ไป 1. กลัวทำงานผิดพลาด 2. ไปไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ 3. ครอบครัวมีความขัดแย้งเรื่องเงินหรือเรื่องงานในบ้าน 4. เป็นกังวลเรื่องสารพิษ หรือมลพิษในอากาศ น้ำ เสียง และดิน 5. รู้สึกว่าต้องแข่งขันหรือเปรียบเทียบ 6. เงินไม่พอใช้จ่าย 7. กล้ามเนื้อตึงหรือปวด 8. ปวดหัวจากความตึงเครียด 9. ปวดหลัง 10. ความอยากอาหารเปลี่ยนแปลง 11. ปวดศีรษะข้างเดียว 12. รู้สึกวิตกกังวล 13. รู้สึกคับข้องใจ 14. รู้สึกโกรธ หงุดหงิด 15. รู้สึกเศร้า 16. ความจำไม่ดี 17. รู้สึกสับสน 18. ตั้งสมาธิลำบาก 19. รู้สึกเหนื่อยง่าย 20. เป็นหวัดบ่อย ๆ
การให้คะแนน1 คะแนน หมายถึง ไม่รู้สึกเครียด2 คะแนน หมายถึง รู้สึกเครียดเล็กน้อย 3 คะแนน หมายถึงรู้สึกเครียดปานกลาง 4 คะแนน หมายถึง รู้สึกเครียดมาก
5 คะแนน หมายถึง รู้สึกเครียดมากที่สุด
การแปลผลคะแนนรวมไม่เกิน 100 คะแนน โดยผลรวมที่ได้ แบ่งออกเป็น 4 ระดับ ดังนี้ คะแนน 0-24 เครียดน้อย คะแนน 25-41 เครียดปานกลาง คะแนน 42-62 เครียดสูง คะแนน 63 ขึ้นไป เครียดรุนแรง
การประเมิน มี 4 ระดับ คือ1. ความเครียดในระดับต่ำหมายถึงความเครียดขนาดน้อย ๆ และหายไปในระยะเวลาอันสั้นเป็นความเครียดที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ความเครียดระดับนี้ไม่คุกคามต่อการดำเนินชีวิต บุคคลมีการปรับตัวอย่างอัตโนมัติ เป็นการปรับตัวด้วยความเคยชินและการปรับตัว ต้องการพลังงานเพียงเล็กน้อยเป็นภาวะที่ร่างกายผ่อนคลาย
2. ความเครียดในระดับปานกลางหมายถึง ความเครียดที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันเนื่องจากมีสิ่งคุกคาม หรือพบเหตุการณ์สำคัญ ๆ ในสังคม บุคคลจะมีปฏิกิริยาตอบสนองออกมาในลักษณะความวิตกกังวล ความกลัว ฯลฯ ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติทั่ว ๆ ไปไม่รุนแรง จนก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย เป็นระดับความเครียดที่ทำให้บุคคลเกิดความกระตือรือร้น
3. ความเครียดในระดับสูงเป็นระดับที่บุคคลได้รับเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความเครียดสูง ไม่สามารถปรับตัวให้ลดความเครียดลงได้ในเวลาอันสั้นถือว่าอยู่ในเขตอันตราย หากไม่ได้รับการบรรเทาจะนำไปสู่ความเครียดเรื้อรัง เกิดโรคต่าง ๆ ในภายหลังได้
4. ความเครียดในระดับรุนแรงเป็นความเครียดระดับสูงที่ดำเนินติดต่อกันมาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้บุคคลมีความล้มเหลวในการปรับตัวจนเกิดความเบื่อหน่าย ท้อแท้ หมดแรงควบคุมตัวเองไม่ได้ เกิดอาการทางกายหรือโรคภัยต่าง ๆ ตามมาได้ง่าย


โดยคุณ : oOfonOo เมื่อ 5 พ.ย. 2553 : 08:53:24  

ความเห็นที่ 1
นพ.อภิชัย กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตจะเน้นดูคนที่มีความเครียดในระดับสูง ไปจนถึงในระดับรุนแรง คือ ตั้งแต่ 42 คะแนนขึ้นไป เพราะอาจเกิดปัญหาตามมาได้ โดยจะให้คำปรึกษาให้ยาต้านเศร้า ยาคลายกังวล แล้วแต่กรณี
แม้ว่าความเครียดจะไม่เกิดอันตรายร้ายแรง แต่ผู้ป่วยที่มีความเครียด หากไม่รีบรักษาอาจส่งผลทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนอาทิ โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคหอบหืด โรคปวดศีรษะไมเกรน เป็นต้น นอกจากนี้ยังส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยทำให้ประสิทธิภาพของการทำงานลดลง ผู้ป่วยจะมีลักษณะอาการวิตกกังวลมากเกินปกติ เช่น บางคนมีอาการนอนไม่หลับ ใจสั่นตื่นเต้น ตกใจง่าย เหงื่อออกมากผิดปกติ ปวดศีรษะ แน่นหน้าอก แน่นท้อง ชาตามตัว
การรักษาความเครียดแบบผิด ๆ เช่น เลือกที่จะดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ด้วยความเชื่อที่ว่าช่วยผ่อนคลายจิตใจ
ชั่ววูบหนึ่ง แต่หารู้ไม่ว่าเพียงแค่คุณได้สัมผัสกับแอลกอฮอล์และควันบุหรี่ เท่ากับ
ว่าได้เปิดประตูต้อนรับโรคร้ายอย่างมะเร็งเข้ามาสู่ร่างกายโดยไม่รู้ตัว เพราะร่างกายคนเราเมื่อมีความเครียด สมองจะหลั่งสารคอร์ติซอลซึ่งจะทำให้เกิดความเครียดขึ้นมา เมื่อเครียดสะสมนาน ก็สะสมฮอร์โมนคอร์ติซอล ทำให้เซลล์ภูมิคุ้นกันอ่อนแอลง ทำให้เซลล์มะเร็งมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น
คำแนะนำสำหรับผู้มีความเครียดระดับสูง และรุนแรง 1. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง และหากจำเป็นควรได้รับยาจากแพทย์เพื่อลดความเครียด 2. การพูดคุยกับคนที่ใกล้ชิดหรือไว้ใจ เป็นการระบาย 3. การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มสารสุขเอนดอร์ฟิน ลดสารเครียดคอร์ติซอล โดยทำอย่างน้อยวันเว้นวัน วันละ 30 นาที สำหรับการออกกำลังกายในภาวะน้ำท่วมเช่น การบริหารร่างกายอยู่กับที่ เต้นอยู่กับที่ วิ่งเหยาะ ๆ อยู่ในบ้าน 4. เลือกกิจกรรมที่ชอบ เช่น ฟังเพลง ทำสมาธิ 5. ฝึกการหายใจคลายเครียด ในคนปกติหายใจเข้าท้องจะป่อง หายใจออกท้องจะแฟบ แต่คนเครียดจะตรงกันข้าม ดังนั้นควรฝึกโดยหายใจเข้านับ 1 หายใจออกนับ 2 หายใจเข้านับ 3 หายใจออกนับ 4 หายใจเข้านับ 5 จากนั้นเริ่มนับหนึ่งใหม่จนถึง 6, 7, 8, 9, 10 ตามลำดับ 6. ฝึกมองโลกเชิงบวก เพราะถ้าสามารถปฏิบัติได้สม่ำเสมอจะทำให้เกิดเป็นนิสัยได้ การมองโลกเชิงบวกจะทำให้คนเรามองเห็นทางออกในทุกปัญหา ทำให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความหวัง ในทางตรงข้าม การมองโลกในทางลบจะมองเห็นปัญหาในทุกทางออก 7. การสร้างความสัมพันธ์กับคนในชุมชนเพื่อเป็นแหล่งช่วยเหลือซึ่งกันและกันในภาวะวิกฤติ 8. ถ้าไม่ดีขึ้นภายใน 2 สัปดาห์ ควรพบแพทย์เพื่อการรักษา เพราะความเครียดขั้นรุนแรงนำไปสู่โรคซึมเศร้า และการฆ่าตัวตายได้
นพ.อภิชัย กล่าวว่า ส่วนกรณีที่ผู้ประสบภัยน้ำท่วมส่วนหนึ่งมีภาวะซึมเศร้านั้น บางรายก็เป็นผู้ป่วยเดิมที่ได้รับการรักษาจนหายแล้ว แต่พอประสบภัย อดนอน อาการกำเริบขึ้นมาอีก แต่บางรายมีความเครียดสูงติดต่อกันนาน ๆ ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้ โดยจะใช้คำถามคัดกรอง คือ 1. รู้สึกจิตใจหม่นหมองหรือไม่ (เกือบตลอดทั้งวัน) 2. รู้สึกหมดอาลัยตายอยาก 3. รู้สึกไม่มีความสุข หมดสนุก กับสิ่งที่เคยชอบและเคยทำ 4. คิดอะไรได้ช้ากว่าปกติ 5. รู้สึกอ่อนเพลียง่ายเหมือนไม่มีแรง 6. นอนหลับ ๆ ตื่น ๆ หลับไม่สนิท ถ้าตอบว่า "มี"ตั้งแต่ 3 ข้อขึ้นไป หมายถึง มีภาวะซึมเศร้า ควรได้รับบริการปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ หรือพบแพทย์เพื่อการบำบัดรักษา.


โดย oOfonOo [ 5 พ.ย. 2553 : 08:53:47 ]

Member
204 ศิษย์เก่า และ 54 บุคคลทั่วไป