
ย่างเข้าหนาว หลายคนมีโปรแกรมไปเดินป่า หรือตั้งเต็นท์ค้างแรมในป่าเขา เพื่อผ่อนคลายความเครียดจากการทำงาน แต่ถ้ากลับจากการท่องเที่ยวแล้วปรากกฎว่า มีไข้ ไม่สบาย โรคหนึ่งที่อยากให้พึงสังวรไว้ คือ “โรคสครับ ไทฟัส”
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นพ.มานิต ธีระดันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข บอกว่า โรคสครับ ไทฟัส เป็นหนึ่งในกลุ่มโรคไข้รากสาด ที่เกิดจากเชื้อรักเกตเซีย ตามธรรมชาติเป็นโรคติดต่อของสัตว์ป่าโดยเฉพาะสัตว์ตระกูลฟันแทะเช่น หนู กระแต กระจ้อน โดยเชื่อว่าเชื้อริกเกตเชียที่อยู่ในสัตว์แทะจะไปทำให้สัตว์นั้นมีอาการของโรค เชื้อนี้ติดต่อจากสัตว์ตัวหนึ่งไปอีกตัวหนึ่งได้โดยถูกไรอ่อนที่มีเชื้อกัด
บังเอิญคนเข้าไปในแหล่งที่ไรอาศัยอยู่และถูกไรอ่อนกัด โดยเฉพาะในบริเวณร่มผ้าแล้วปล่อยเชื้อริกเกตเชียออกมา หลังถูกกัดประมาณ 10 – 12 วันจะมีไข้ขึ้นสูง ปวดศีรษะมาก คลื่นไส้ อาเจียน หูอื้อ เหงื่อออก หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามตัว บางรายอาจมีอาการปวดหน่อย ตาแดง ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ มีตับโตม้ามโต
ผู้ที่ถูกไรอ่อนกัด ประมาณ 30-40% จะมีแผลบุ๋มสีดำ รูปร่างกลมออกรีขอบนูนเรียบ ขนาดประมาณ 0.5 – 1.5 เชนติเมตร ลักษณะคล้ายแผลถูกบุรี่จี้ แต่ไม่เจ็บ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคนี้ หลังมีไข้ประมาณ 4- 5 วันบางรายจะมีผื่นนูนแดงตามตัว กระจายไปตามแขนขา ซึ่งจะหายไปใน 2-3 วัน บางรายอาจมีอาการทางปอด ในรายที่รุนแรงอาจมีอาการทางสมองคอแข็ง เสียชีวิตได้
หากมีอาการเหล่านี้หลังกลับออกจากเที่ยวป่า ภายใน 2 สัปดาห์ ควรรีบไปพบแพทย์ พร้อมแจ้งประวัติการไปเที่ยวป่า ไม่ให้อาการรุนแรงถึงชีวิต ซึ่งโรงพยาบาลทุกแห่งมียาปฏิชีวนะรักษาโรคนี้หายขาด
วิธีที่ดีที่สุด คือ การป้องกันตัวเองไม่ให้ไรอ่อนกัด หรือไม่เข้าไปในพื้นที่ที่สงสัยเป็นที่อยู่ของไรอ่อน เช่น กองฟางในท้องนา ในป่าโป่ง ชายป่า ป่าละเมาะ ไร่สวน หลีกเลี่ยงการนั่งและนอนกับพื้นดินติดบริเวณพุ่มไม้ ป่าละเมาะ หรือพื้นหญ้าขึ้นรก ใช้ยาทากันแมลงกัดเมื่อจำเป็นเข้าไปพื้นที่เสี่ยงแต่งกายให้รัดกุม โดยเอาขากางเกงใส่เข้าไปในรองเท้า และใส่เสื้อในกางเกง ส่วนที่อยู่ร่มผ้าให้ทายากันแมลงกัด ใส่รองเท้าบู๊ตหลังจากออกพื้นที่เสี่ยงให้เปลี่ยนเสื้อผ้าอาบน้ำชำระร่างกายทันที เสื้อผ้าที่ใส่ให้แช่ผงซักฟอกที่มีความเข้มข้น ซักผึ่งแดดให้แห้ง
ด้าน นพ.วิชัย สติมัย ผอ.สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กล่าวถึงกรณีที่มีผู้ป่วยบางรายเสียชีวิตจากโรคสคับ ไทฟัส ว่าเป็นเพราะบางคนไปพบแพทย์ช้า ไม่รู้ว่าตังเองเป็นโรคนี้ หรือบางคนอาจป่วยด้วยโรคนี้พร้อมกับโรคอื่นๆ แต่การรักษามุ่งแต่โรคอื่นไม่ได้รักษาโรคนี้ จึงทำให้อาการรุนแรงและเสียชีวิตแต่ก็พบการเสียชีวิตได้น้อยมาก ตัวเองนั้นก็เคยเป็นโรคนี้มาก่อน ตอนนั้นปวดศีรษะมากเหมือนหัวจะระเบิด แต่ไปราชการในพื้นที่ห่างไกล ตัวไรก็อาจเกาะมากับขากางเกงแล้วกัดทำให้ป่วยตอนแรกผมก็ไม่นึกว่าเป็นโรคนี้ นึกว่าเป็นมาราเรีย พอเห็นรายแผลคล้ายบุรี่จี้ที่ขาหนีบ ถึงรู้ว่าเป็นโรคนี้ เมื่อกินยาปฏิชีวนะไม่กี่วันก็หาย ดังนั้นอยากฝากไปยังพี่น้องประชาชนว่าไม่จำเป็นต้องไปเดินป่า หรือตั้งเต็นท์ในป่าแต่หากไปในพื้นที่เสี่ยง มีไรของสัตว์ฟันแทะอยู่ก็อาจทำให้เป็นโรคนี้ได้เช่นกัน.
โดยคุณ : oOfonOo เมื่อ 7 ต.ค. 2553 : 09:010:56