The Great Resignation
ปรากฏการณ์คนลาออกหลังโควิด
เราต้องวางแผนการเงินยังไง?
โควิดเปลี่ยนวิถีชีวิตคนไปโดยสิ้นเชิง ตอนนี้มีข้อมูลที่น่าสนใจคือ เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว จะเกิดปรากฏการณ์ “The Great Resignation” คือมนุษย์เงินเดือนจำนวนมหาศาล จะแห่กันลาออกเพื่อหางานใหม่ คำถามคือ “ถ้าเราจะลาออก ควรวางแผนเรื่องเงินยังไง?”
ก่อนอื่นขออธิบายปรากฏการณ์นี้คร่าวๆ ทาง Bankrate บริษัทจัดหางานสัญชาติอเมริกัน เผยผลสำรวจกลุ่มคนทำงาน 5,500 คน พบว่า 56% ของคนทำงานวัย 18-24 ปี ในสหรัฐอเมริกา กำลังวางแผนหางานใหม่ในอีก 1 ปี และถ้ามองย้อนกลับไป เดือน เม.ย.มีคนลาออกจากงานมากกว่า 4 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงสุดในประวัติการณ์ (ต่อมาในเดือน พ.ค.ก็ลาออกอีก 3.6 ล้านคน)
เมื่อมองภาพรวมทั้งโลก พนักงาน 30,000 คนของบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Microsoft ก็มี 41% กำลังคิดจะลาออก ส่วนในอังกฤษและไอร์แลนด์ก็มีการสำรวจพบว่า 38% ของผู้ตอบแบบสอบถาม เตรียมแผนจะลาออกในอีก 6 เดือน-1 ปีนี้
<สาเหตุที่ลาออกคืออะไร?>
1.ต้องกลับมาเข้าออฟฟิศหลังหมดโควิด
วัฒนธรรมการทำงานแบบใหม่ ไม่ต้องเข้าออฟฟิศอีกต่อไป แต่ผู้บริหารราว 70% กลับคิดว่าเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น พนักงานจะต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน ขณะที่ 1 ใน 3 ของพนักงาน ไม่ต้องการทำงานในบริษัทที่มีนโยบายนี้ เพราะมันเสียเวลาเดินทาง และเสียความยืดหยุ่นในการทำงาน
2.บริษัทไม่ใส่ใจดูแลในช่วงโควิด
บริษัทที่ไม่ใส่ใจดูแลพนักงานในช่วงโควิด เช่น ประกาศเลิกจ้างทันทีที่มีการระบาด ไม่มีมาตรการความปลอดภัยให้พนักงานด่านหน้า ไม่มีสวัสดิการด้านสุขภาพ ฯลฯ จะทำให้พนักงานอยากลาออกเพิ่มขึ้น 2 เท่า และมองหาโอกาสย้ายไปอยู่บริษัทที่ดูแลพนักงานได้ดี
<ถ้าเราจะลาออก ต้องวางแผนการเงินยังไง?>
1.เตรียมเงินสำรองฉุกเฉิน
หากตัดสินใจจะลาออก ต้องมั่นใจว่าเรามีเงินออมสำรองมากพอที่จะใช้จ่าย อย่างน้อย 3-6 เดือน เผื่อว่าอยู่ในช่วงที่กำลังหางานใหม่ แต่ทั้งนี้ aomMONEY แนะนำว่า ไม่ควรลาออกโดยที่ยังไม่มีงานใหม่รองรับ เพราะอาจทำให้เครียดกว่าเดิม
2.จัดการกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ถ้าบริษัทที่เราทำงานอยู่ มีสวัสดิการเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก็ไม่ควรถอนเงินออกมา แต่ก่อนที่จะลาออกให้จัดการตามข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้
➡ คงเงินเอาไว้กับบริษัทเก่า
วิธีนี้เราจะยังได้รับผลประโยชน์จากการลงทุนต่อไป แต่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการคงเงินไว้ 500 บาทต่อปี
➡ โอนไปกองทุนสำรองฯ ของบริษัทใหม่
หากบริษัทใหม่มีกองทุนสำรองฯ วิธีนี้เราจะยังคงได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีของกองทุนฯ และไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการคงเงิน ทั้งยังได้นับอายุสมาชิกอย่างต่อเนื่อง
➡ โอนไปกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF for PVD)
วิธีนี้เราจะยังได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี และยังช่วยให้เงินก้อนนี้ได้ลงทุนสร้างผลตอบแทนต่อไป
3.อย่าลืมลงทะเบียนผู้ประกันตน
ถ้าเราจ่ายเงินสมทบประกันสังคมมาแล้วไม่ต่ำกว่า 6 เดือน เมื่อลาออกก็สามารถลงทะเบียนผู้ประกันตนได้ที่
https://bit.ly/2WOdJks
ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ว่างงาน โดยจะได้รับเงินชดเชยปีละไม่เกิน 90 วัน ในอัตรา 30% ของค่าจ้างเฉลี่ย (คำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท)
ขอขอบคุณข้อมูลจาก:
aomMONEY
โดยคุณ : Admin เมื่อ 3 กันยายน 2021 : 19:51:26