รศ.ดร.ภณิดา ซ้ายขวัญ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า โดยงานวิจัยในประเทศไทยส่วนใหญ่ระบุตรงกันค่อนข้างชัดเจนว่า Oxybenzone (Benzophenone-3, BP-3) และ Octinoxate (Ethylhexyl Methoxycinnamate) ส่งผลกระทบต่อสารคุมรหัสพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต หรือ ดีเอ็นเอ (DNA) ของปะการัง โดยไปยับยั้งการสร้างเซลล์ใหม่ ซึ่งส่งผลต่อการเจริญเติบโต และก่อให้เกิดการฟอกขาวของปะการัง ส่วนงานวิจัยเกี่ยวกับ 4-Methylbenzylid Camphor (4MBC) และ Butylparaben ถึงแม้จะไม่ได้ระบุสาเหตุที่ชัดเจนนัก แต่ในสาระสำคัญในประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่ออกมาล่าสุด ถือว่าครอบคลุมสารเคมีทุกชนิดที่ส่งผลให้เกิด ‘ปะการังฟอกขาว’ แล้ว
จากการตรวจสอบย้อนหลังเกี่ยวกับข้อกฎหมายห้ามใช้ครีมกันแดดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ‘ประเทศไทย’ ถือเป็นชาติแรก ๆ ของโลกที่ออกกฎหมายนี้ ต่อจากรัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา และสาธารณรัฐปาเลา ซึ่งมีลักษณะภูมิประเทศเป็นหมู่เกาะ โดย คณะวิศวะฯ ธรรมศาสตร์ มองการเคลื่อนไหวทางกฎหมายนี้เป็น ‘ปรากฏการณ์’ ครั้งสำคัญของมนุษยชาติและการเปลี่ยนแปลงที่ดี เพราะถือเป็นจุดเริ่มต้นของการตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรทางทะเล โดยมีจุดเริ่มต้นตั้งแต่การคิดค้นผลิตภัณฑ์ ซึ่ง ‘วิศวกรเคมี’ ถือเป็นบุคลากรที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการพลิกโฉมอุตสาหกรรมสกินแคร์ (Skincare) ด้วยการขานรับข้อกฎหมาย และช่วยหาทางแก้ไขตั้งแต่กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
“เพราะเรื่องเคมีไม่ได้จำกัดเฉพาะในห้องแลป แต่อยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคน ซึ่งในโอกาสครบรอบ 32 ปี เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 19 สิงหาคมของทุกปี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความมุ่งมั่นที่จะส่งต่ออนาคตทางการศึกษาให้กับคนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจด้านวิศวกรรมเคมี ให้พร้อมเผชิญกับความท้าทายใหม่ ๆ รอบตัวและพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงด้านกฎหมายที่มีผลต่ออุตสาหกรรมสกินแคร์ ‘วิศวกรเคมี’ ต้องพร้อมเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงนี้เช่นกัน” รศ.ดร.ภณิดา กล่าวทิ้งท้าย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก:
thammasat university
โดย Admin [ 1 กันยายน 2021 : 22:41:34 ]