สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ความผันผวนทางการเมือง ตลอดจนสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้ต้องมีการปรับปรุงหลักสูตรมหาวิทยาลัยใหม่ จึงได้มีการตรา “ข้อบังคับเพิ่มเติมว่าด้วยการแบ่งแยกการศึกษาเป็น 4 คณะ และกำหนดสมัยการศึกษาและการสอบไล่ พ.ศ. 2492” ซึ่งข้อบังคับนี้นำไปสู่การจัดตั้งคณะรัฐศาสตร์ขึ้นเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2492 โดยในการร่างหลักสูตร คณบดี และคณะกรรมการของคณะได้ศึกษาเปรียบเทียบตัวอย่างหลักสูตรจำนวนมากจากมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ รวมทั้งได้รับความช่วยเหลือทางวิชาการจากมูลนิธิ Fulbright ซึ่งเข้ามาดำเนินการในประเทศไทย ณ สมัยนั้นด้วย
ต่อมาปี พ.ศ. 2498 ขณะที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กำลังได้รับความช่วยเหลือทางวิชาการจากสหรัฐฯ คณะรัฐศาสตร์ก็ตั้งแผนกวิชารัฐประศาสนศาสตร์ในระดับชั้นปริญญาโท โดยจัดการเรียนการสอนทั้งในระบบภาษาอังกฤษ และภาษาไทย พอปี พ.ศ. 2502 แผนกการทูตในระดับชั้นปริญญาตรีจึงถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรก (หลังจากที่มีการเรียนการสอนในระดับชั้นปริญญาโทมาเป็นเวลาช้านาน) ติดตามมาด้วยแผนกบริหารรัฐกิจ และแผนกรัฐศาสตร์ศึกษา
ช่วงต้นทศวรรษที่ 2510 ถึงทศวรรษที่ 2520 มีการปรับโครงสร้างเกิดขึ้นเป็นระยะ เพื่อความเหมาะสมทางวิชาการ มีการยุบรวมแผนกปรัชญาการเมือง จนท้ายที่สุด คณะรัฐศาสตร์ก็เหลือแผนกอยู่ทั้งหมด 3 แผนก คือ แผนกการปกครอง แผนกบริหารรัฐกิจ และแผนกความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (แผนกการทูตเดิม) ซึ่งนี่เป็นโครงสร้างที่ดำรงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ดี คณะรัฐศาสตร์ยังคงพยายามปรับตัวอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองต่อบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไป และพัฒนาการใหม่ๆ ในทางวิชาการ
ช่วงทศวรรษที่ 2530 นอกเหนือจากการริเริ่มโครงการความร่วมมือมากมายกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ ทั้งใน และนอกประเทศ คณะรัฐศาสตร์ยังเปิดหลักสูตรพิเศษในระดับปริญญาโทขึ้น 3 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรปริญญาโท สำหรับผู้บริหารสาขาบริหารรัฐกิจ (EPA) หลักสูตรปริญญาโทสาขาการปกครอง สำหรับผู้บริหาร (MPE) และหลักสูตรปริญญาโทสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (MIR) โดยหลักสูตรสุดท้ายจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ
ล่าสุดในปี พ.ศ. 2552 หลังเตรียมความพร้อมมาเป็นเวลาหลายปี ทางคณะก็ตัดสินรักษาความเป็นผู้นำทางวิชาการด้วยการเป็นคณะรัฐศาสตร์แห่งแรกของประเทศที่เปิดหลักสูตรภาคภาษาอังกฤษสำหรับสาขาการเมืองและการระหว่างประเทศ ซึ่งก็คือ หลักสูตร BMIR การเปิดหลักสูตรนี้ทำให้คณะมีความเป็นนานาชาติเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน จำนวนมหาวิทยาลัยคู่สัญญาในต่างประเทศมีมากขึ้นแบบก้าวกระโดด เช่นเดียวกับจำนวนนักศึกษา และคณาจารย์ชาวต่างชาติ
และภาพต่อไปนี้เป็น ภาพของ ชาวสิงห์แดง นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ รุ่น 2502 ลองไปชมภาพกันว่าในยุคนั้นบรรยากาศการเรียนจะเป็นอย่างไรบ้าง?
โดย admin [ 27 เมษายน 2021 : 12:11:44 ]