"สำนักงานศิษย์เก่าสัมพันธ์ มธ." ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "สำนักงานธรรมศาสตร์สัมพันธ์" ตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการจัดตั้งและการแบ่งส่วนงานของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.2559
พิษภัยในบ้านในช่วงหน้าฝน
ในช่วงหน้าฝนนี้ สัตว์ที่น่ากลัวคงหนีไม่พ้นแมงป่องและตะขาบที่มักคลานยั้วเยี้ยเข้ามาในบ้าน ไม่แต่สร้างความตกใจ ยังสร้างความหวาดกลัว เนื่องจากพิษของมัน ถ้าใครแพ้อาจตายได้

แมงป่อง (Scorpions)
แมงป่องจัดอยู่ใน Class Arachnida, Order Scorpiones พบกระจายอยู่ทั่วโลก ในประเทศไทยมีหลายชนิดเช่น แมงป่องชนิด Keterometrus longimanus มีขนาดตัวใหญ่ที่สุดพบทางภาคเหนือ แมงป่องบางชนิดมีพิษไม่รุนแรง บางชนิดพิษรุนแรงมาก อาจทำให้ตายได้
แมงป่องมีรูปร่างคล้ายปู มีขนาดยาว 2-10 เซนติเมตร ลำตัวประกอบด้วยส่วนหัวและอกรวมกัน ส่วนท้องลักษณะยาวและแบ่งเป็นปล้องๆ ส่วนปากมีลักษณะเป็นก้ามขนาดใหญ่คล้ายก้ามปูไว้สำหรับจับเหยื่อ ส่วนหางมี 5 ปล้อง ปลายหางยกขึ้น ปล้องสุดท้ายมีอวัยวะสำหรับใช้ต่อยและมีต่อมพิษอยู่ที่ส่วนปลาย
แมงป่องออกลูกเป็นตัว (larviparous) ลูกแมงป่องจะอาศัยอยู่บนหลังของตัวแม่ ภายใน 2 สัปดาห์จะมีขนาดใหญ่ขึ้นและแยกจากตัวแม่ไปหากินอิสระ จากนั้นลอกคราบอีก 6-7 ครั้ง จึงเป็นตัวเต็มวัย ใช้เวลานาน 1 ปี แมงป่องออกหากินในเวลากลางคืน มักพบในห้องน้ำ ครัว ผนังห้อง ท่อแอร์ ชอบที่เย็น กลางวันซุกอยู่ตามกองไม้ กองหิน และในดิน อยู่ได้ทั้งในทะเลทรายและป่าแถบร้อนชื้น
พิษของแมงป่องประกอบด้วยสาร neurotoxin เป็นส่วนใหญ่ มีคุณสมบัติทนต่อความร้อน ออกฤทธิ์ทำลายเซลล์ประสาท กล้ามเนื้อหัวใจ หลังถูกต่อย ผู้ป่วยเริ่มมีอาการภายใน 4-7 นาที และมีอาการปวดมากในเวลา 30 นาที พิษจะถูกกำจัดทางปัสสาวะภายในเวลา 4.2 – 13.4 ชั่วโมง ปริมาณพิษที่ได้รับมากจะเกิดอาการมาก เช่น มีอาการปวดบวมแดง ปวดแสบปวดร้อนตรงบริเวณที่ถูกต่อย บางครั้งจะเป็นรอยไหม้ คัน ชา มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ถ้าเข้าสู่กระแสโลหิตจะไปมีผลต่างๆ เช่น ง่วงซึม อัมพาตบางส่วน กล้ามเนื้อเกร็ง น้ำลายไหล ชัก ความดันโลหิตสูง ปัสสาวะน้อย หัวใจเต้นเร็ว น้ำคั่งในปอด และอาจเสียชีวิตจากภาวะการหายใจล้มเหลว ระบบการไหลเวียนโลหิตล้มเหลว กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ อาการพิษจะเริ่มในเวลา 1.5 – 42 ชั่วโมงหลังถูกแมงป่องต่อย


ตะขาบ (Centipedes)
ตะขาบจัดอยู่ใน Class Chilopoda เป็นสัตว์ขาข้อที่พบได้ทั่วไปในแถบร้อนชื้น อาศัยอยู่บนบก ตะขาบมีขนาดความยาวลำตัวตั้งแต่ 3 – 8 เซนติเมตร ลำตัวแบนราบ มีปล้อง 15 – 100 ปล้อง แต่ละปล้องมีขา 1 คู่ ส่วนหัวแยกจากลำตัวชัดเจน มีหนวด 1 คู่ โดยมีเขี้ยวพิษ 1 คู่ ซึ่งดัดแปลงมาจากปล้องแรกของลำตัว เขี้ยวพิษเชื่อมต่อกับต่อมพิษ
ตะขาบวางไข่ในที่ชื้น หรือต้นพืช หญ้า ใช้เวลาในการเจริญเติบโตนาน ลอกคราบ 10 ครั้ง ตัวเต็มวัยมีอายุประมาณ 3 – 5 ปี ในเวลากลางวันจะซ่อนตัวอยู่ในที่เย็นๆ ใต้ก้อนหิน ออกล่าเหยื่อในเวลากลางคืน กินแมลงและสัตว์ขาข้อตัวเล็กๆ เป็นอาหาร
เมื่อถูกตะขาบกัดจะพบรอยเขี้ยว 2 รอย ลักษณะเป็นจุดเลือดออกตรงบริเวณที่ถูกกัด พิษของตะขาบประกอบด้วยสารก่อปฏิกิริยาอักเสบต่อร่างกาย ได้แก่ hydroxytryptamine หรือ cytolysin ทำให้เกิดการอักเสบ ปวดบวมแดง ร้อน ชา เกิดอัมพาตตรงบริเวณที่ถูกกัด ในบางรายอาจมีอาการแพ้หรือกระวนกระวาย อาเจียน หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ มึนงง ปวดศีรษะ อาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนตรงบริเวณที่ถูกกัด อาจเป็นแผลไหม้อยู่ 2 – 3 วัน
การรักษาพิษของตะขาบและแมงป่อง โดยทำความสะอาดแผล ห้ามขยับบริเวณที่ถูกต่อย ใช้ผ้าพันแผลพันไว้และประคบด้วยน้ำแข็ง ให้ยาแก้ปวด อาจใช้ยาชา Xylocane ฉีดเข้าตรงบริเวณที่ถูกกัด ให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อโรคและวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก ในรายที่มีอาการรุนแรง เช่น บวมมาก ปวดมาก หรือมีประวัติของการแพ้มากให้รับไว้รักษาในโรงพยาบาลทันที

รศ.พญ.สุภัทรา เตียวเจริญ
ภาควิชาปรสิตวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

โดยคุณ : ocean butterfly เมื่อ 21 พฤษภาคม 2020 : 12:20:19  

Member
205 ศิษย์เก่า และ 54 บุคคลทั่วไป