"สำนักงานศิษย์เก่าสัมพันธ์ มธ." ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "สำนักงานธรรมศาสตร์สัมพันธ์" ตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการจัดตั้งและการแบ่งส่วนงานของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.2559
สรรพคุณสมุนไพร (ไทย) สีสันบอกได้

เคยรู้ไหมว่าสีสันสดใสสวยงามของสมุนไพรไทยแต่ละชนิดที่ปลูกริมรั้วบ้านของเรา สามารถบ่งบอกสรรพคุณที่แตกต่างเหลือเชื่อเรายังมีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้จากโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรจ.ปราจีนบุรี มาฝากพร้อมเมนูเก๋ๆ ด้วย

หลักความสัมพันธ์สีบอกสรรพคุณ แววใจ พิมพิลา แพทย์แผนไทยประยุกต์ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้อธิบายหลักความสัมพันธ์ระหว่างสีสันของสมุนไพรไทยและสรรพคุณไว้น่าสนใจดังนี้

สีแดงเป็นสีโทนร้อน หมายถึง สีแห่งอำนาจ แสดงถึงการมีพลัง เป็นสีที่กระตุ้นระบบประสาทได้รุนแรงที่สุดให้ความรู้สึกเร้าใจ ตื่นเต้นท้าทาย ในทางจิตวิทยามีความเชื่อมโยงกับสุขภาพอย่างชัดเจน

สมุนไพรที่มีสีแดง อาทิ กระเจี๊ยบแดง มะเขือเทศ ฝาง ฯลฯ มีสรรพคุณส่วนใหญ่ใช้บำรุงร่างกายและปรับสมดุลธาตุไฟ นอกจากนี้ยังพบว่า ผัก ผลไม้สีแดง ยังเป็นแหล่งวิตามิน บี12 ทองแดง เหล็ก ซึ่งเป็นสารอาหารช่วยบำรุงระบบประสาท สอดคล้องกับพลังของสีแดงที่ช่วยกระตุ้นพลังชีวิตให้เข้มแข็ง มีความกระตือรือร้น ทำให้มีชีวิตชีวาขึ้น

สีเหลืองหมายถึง สีแห่งสติปัญญา ความเบิกบาน ร่าเริง มีชีวิตชีวา แจ่มใส ความคิดสร้างสรรค์ การมองโลกในแง่ดี สรรพคุณของสมุนไพรสีเหลืองส่วนใหญ่มีฤทธิ์ช่วยในการขับลม ช่วยให้น้ำดีในลำไส้ทำงานได้ดี อาทิขมิ้นชัน ดาวเรือง ขิง

สีเขียวเป็นสีแห่งการพัฒนาและสื่อถึงความสงบเยือกเย็น ผ่อนคลาย สรรพคุณสมุนไพรสีเขียวส่วนมากมีฤทธิ์เย็น ช่วยให้ผ่อนคลาย สร้างสมดุล ช่วยในการลดความดันโลหิต บำรุงหัวใจ ป้องกันการแข็งตัวของหลอดเลือด อาทิ ใบเตย บัวบก ย่านาง เป็นต้น

สีม่วงถือว่าเป็นสีแห่งจิตวิญญาณ การหยั่งรู้ สื่อถึงความคิดสร้างสรรค์ มีจินตนาการ ทำให้เกิดแรงบันดาลใจมีความคิดและการมองเห็นกว้างไกล พัฒนาการเรียนรู้เร็ว สมุนไพรสีม่วงมีสรรพคุณช่วยในการเพิ่มการไหลเวียนเลือดของหลอดเลือดฝอย เพิ่มความจำ ช่วยในการบำรุงสายตา อาทิ องุ่นแดง มะเขือม่วง มันต่อเผือก ดอกอัญชัน ลูกหม่อน

สีขาวหมายถึง สีแห่งความบริสุทธิ์ สะอาด สมุนไพรสีขาวช่วยทำให้ภายในร่างกายสะอาด ขับปัสสาวะ ขับของเสียออกจากร่างกาย เป็นยาบำรุงปอด ฟอกเลือด อาทิ หญ้าดอกขาว บานไม่รู้โรยดอกขาว เป็นต้น

โดยคุณ : oOfonOo เมื่อ 22 ?.?. 2555 : 08:58:06  

ความเห็นที่ 1
เมนูสุขภาพจากสมุนไพร

เมนูสีแดง "กระเจี๊ยบกวนใจ" ประกอบด้วย ดอกกระเจี๊ยบ 500 กรัม น้ำเปล่า 2 ถ้วยตวง น้ำตาลทราย 2 ถ้วยตวง และเกลือ 1 ช้อนชา เคล็ดลับเมนูนี้อยู่ที่การกวนกระเจี๊ยบหากผสมกล้วยสุกในอัตราส่วนเท่ากับดอกกระเจี๊ยบจะทำให้ได้รสชาติกลมกล่อมและกวนได้ง่ายขึ้น
วิธีทำ นำดอกกระเจี๊ยบต้มกับน้ำเปล่าจนกระทั่งดอกกระเจี๊ยบนั้นเริ่มนิ่ม แล้วทำการบดให้เป็นเนื้อละเอียดผสมน้ำตาลทราย เกลือ และกระเจี๊ยบที่บดแล้วเข้าด้วยกันกวนจนเหนียว เสร็จแล้วนำกระเจี๊ยบที่กวนแล้วเทใส่ถาดเกลี่ยเป็นแผ่นบางพอสมควร นำไปตากแดดให้แห้งใช้แม่พิมพ์รูปหัวใจ หรือตัดกระเจี๊ยบแผ่นที่ทำไว้เป็นรูปหัวใจ เป็นของฝากคนรักในครอบครัวได้

สีขาว"ชาบานไม่รู้โรยดอกขาว" วิธีทำ ล้างบานไม่รู้โรยให้สะอาดแล้วนำไปตากแดดให้แห้ง จากนั้นนำมาคั่วหรืออบแห้งแล้วเก็บใส่ขวดปิดฝาให้มิดชิด รับประทานโดยใช้ดอกบานไม่รู้โรยประมาณ 1-2 ดอกใส่ในแก้วน้ำ เทน้ำร้อนที่เดือดแล้วลงไป ทิ้งไว้ให้ตัวยาละลาย หรือประมาณ 15-20 นาที จึงดื่มหรือจะใช้วิธีการต้มเดือดก็ได้ สรรพคุณบำรุงตับ แก้อาการเจ็บตา แก้ไอระงับอาการหอบหืด ขับปัสสาวะ แก้ปวดศีรษะ บิด ไอกรน และแผลผื่นคัน

สีเหลือง "ชาชงดอกดาวเรือง" ทำง่ายๆ โดยนำดอกดาวเรืองมาล้างให้สะอาดแล้วนำไปตากแดดให้แห้ง จากนั้นนำมาคั่วหรืออบแห้งเพื่อสามารถเก็บไว้ได้นาน เก็บใส่ขวดให้มิดชิดปิดฝาให้แน่น รับประทานโดยใช้ดอกดาวเรือง 1-2 ดอก หรือ 1 หยิบมือ ใส่ในแก้วน้ำเทน้ำร้อนที่เดือดแล้วลงไปทิ้งไว้ 15-20 นาที ดื่มร้อนหรือเย็นได้ตามใจชอบ
สรรพคุณดอกดาวเรืองตามตำรายา คือ บำรุงสายตาได้ดี ฟอกเลือด ละลายเสมหะ ขับลม ขับร้อน แก้ไอหวัดไอกรน เต้านมอักเสบ คางทูม แก้เวียนศีรษะ
นอกจากนี้ ดาวเรืองยังนำรับประทานเป็นผักได้ด้วยโดยเลือกดอกดาวเรืองที่ยังตูม นำมาลวกจิ้มกับน้ำพริกดอกบานนำมาปรุงแบบยำผสมเนื้อสัตว์ได้ตามใจชอบอาจนำไปผัดหรือชุบแป้งทอดก็จะได้อาหารที่มีประโยชน์และอร่อยไปอีกแบบ
สีเขียว "ชาเตยหอม" เริ่มด้วยการล้างใบเตยให้สะอาดนำมาหั่นให้ละเอียด แล้วนำไปตากแดดให้แห้ง จากนั้นนำมาคั่วหรืออบแห้ง เก็บใส่ขวดปิดฝาให้มิดชิด สามารถรับประทานโดยการนำชาใบเตยประมาณหนึ่งหยิบมือใส่ในแก้วน้ำ เทน้ำร้อนลงไป ทิ้งไว้ให้ตัวยาจากใบเตยละลายแล้วจึงดื่ม
สรรพคุณช่วยบำรุงหัวใจขอแนะนำผู้ป่วยที่หัวใจไม่ค่อยแข็งแรงให้พกชาใบเตยติดกระเป๋า ดื่มเป็นประจำ นอกจากนี้ยังช่วยแก้ร้อนใน กระหายน้ำ ดับพิษ และช่วยชูกำลังได้

สีม่วงแนะนำ "ชาอัญชัน" เริ่มด้วยการล้างดอกอัญชันให้สะอาด นำไปตากแดดให้แห้ง จากนั้นนำมาคั่วหรืออบแห้ง เก็บใส่ขวดปิดฝาให้มิดชิด รับประทานโดยใช้ดอกอัญชัน 4-5 ดอก หรือหนึ่งหยิบมือใส่แก้วน้ำ เติมน้ำร้อน ทิ้งไว้ให้ตัวยาละลาย หรือประมาณ 15-20 นาทีจึงดื่ม

ดอกอัญชันมีสารแอนโทไซยานิน เพิ่มการไหลเวียนของหลอดเลือดเล็ก ทำให้เลือดไปเลี้ยงรากผมและนัยน์ตามากขึ้น มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระจากธรรมชาติ และบรรเทาอาการผมร่วงได้

ได้รับรู้ข้อมูลดีๆ อย่างนี้ อย่าเผลอไปตัดสมุนไพรที่ปลูกอยู่ริมรั้วบ้านของท่านทิ้งละกัน หรือถ้าสงสัยเกี่ยวกับเรื่องสมุนไพรไทยมีสรรพคุณอย่างไรสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี โทร. 037-211-289

โดย oOfonOo [ 22 ?.?. 2555 : 09:00:18 ]

Member
204 ศิษย์เก่า และ 54 บุคคลทั่วไป