"สำนักงานศิษย์เก่าสัมพันธ์ มธ." ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "สำนักงานธรรมศาสตร์สัมพันธ์" ตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการจัดตั้งและการแบ่งส่วนงานของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.2559
'คู่มือประชาชน' ป้องกันโรคร้ายแฝงน้ำท่วม

มือสะอาด-ร่างกายสะอาดป้องกันโรค

'มือ'เป็นอวัยวะสำคัญที่ใช้สัมผัสกับร่างกายของตนเอง และสิ่งแวดล้อมทั่วๆไป ถ้ามือสกปรกก็จะเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคได้ โดยมืออาจเปรอะเปื้อนสิ่งสกปรก เช่นขยะมูลฝอย อาหารดิบ ฯลฯ

ผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจมีโอกาสที่จะใช้มือสัมผัสน้ำมูก น้ำลายของตัวเองและเชื้อจะไปปนเปื้อนกับสิ่งของรอบๆ ตัวทำให้คนอื่นๆ ที่ใช้มือหยิบจับสิ่งของเหล่านั้นได้รับเชื้อโรคแล้วนำเข้าสู่ร่างกายเมื่อใช้มือมาจับ ดังนั้นจึงต้องดูแลรักษาให้"มือสะอาดและมีสุขภาพดี" ตัดเล็บมือให้สั้นอยู่เสมอ กรณีมีแผลที่มือและนิ้วมือต้องรักษาให้หายหรือใส่ยา ปิดปลาสเตอร์ไว้และล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจล ทำความสะอาดมือทุกครั้ง

- หลังไอ จาม หรือสั่งน้ำมูก- ก่อนและหลังจากสัมผัสผู้ป่วย- ก่อนรับประทานอาหาร-ก่อนและหลังการเตรียม และป้อนอาหารให้

วิธีที่ง่ายสะดวก และประหยัดที่สุดคือการล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำสะอาดโดยถูซอกนิ้วมือ ฝ่ามือ หลังมือ และรอบข้อมือให้ทั่วถึง แล้วเช็ดมือให้แห้งด้วยผ้าสะอาด

การดูแลบาดแผล

บาดแผลที่ดูแลไม่ดี อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้น เช่น แผลติดเชื้อจากแบคทีเรีย เกิดหนอง เป็นแผลเรื้อรัง เกิดการเน่าของเนื้อเยื่อจนบางครั้งอาจทำให้ต้องตัดอวัยวะส่วนนั้นทิ้งไป หรือเสียชีวิตได้ การปฏิบัติเมื่อเกิดบาดแผลมีดังนี้

- แผลข่วน แผลถลอกหรือแผลแยกของผิวหนังที่ไม่ลึก จะมีเลือดออกเล็กน้อย และหยุดเองได้ แผลพวกนี้ไม่ค่อยมีอันตราย ให้ทำความสะอาดบาดแผล โดยใส่ยาฆ่าเชื้อเช่น เบตาดีน และปิดปากแผล แผลก็จะหายเอง

- แผลฉีกขาดเป็นแผลที่เกิดจากแรงกระแทก หากเป็นวัสดุที่ไม่มีคม แผลมักฉีกขาดขอบกะรุ่งกะริ่ง แผลชนิดนี้เนื้อเยื่อถูกทำลายและมีโอกาสติดเชื้อมาก ควรทำความสะอาดบาดแผลให้สะอาด ถ้าบาดแผลลึกมากควรนำส่งโรงพยาบาล เพราะผู้ป่วยอาจได้รับอันตรายจากการติดเชื้อโรค



โดยคุณ : oOfonOo เมื่อ 29 พ.ย. 2554 : 09:45:52  

ความเห็นที่ 1
การปฏิบัติตัวเมื่อถูกสัตว์ แมลงมีพิษกัด

'งูกัด'เป็นภาวะฉุกเฉินที่อาจพบได้กรณีน้ำท่วม ผู้ถูกงูกัดควรดูแลรักษาตนเองเบื้องต้น ดังนี้

- ตั้งสติให้ดี อย่าตกใจเกินเหตุ เนื่องจากผู้ถูกงูกัดบางรายที่ถูกงูพิษกัดอาจไม่ได้รับพิษ เพราะบางครั้งงูพิษกัด แต่ไม่ปล่อยพิษออกมา หรืองูพิษตัวนั้นได้กัดสัตว์อื่นมาก่อนและไม่มีน้ำพิษเหลือ ในกรณีที่ได้รับพิษงู ผู้ถูกงูกัดจะไม่เสียชีวิตหรือมีอาการอันตรายร้ายแรงทันที ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 30นาที จึงจะเริ่มมีอาการรุนแรง

- ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด (ถ้ามี) ห้ามทำสิ่งต่อไปนี้ คือ กรีดแผลดูดแผล ใช้ไฟ/ไฟฟ้าจี้ที่แผล โปะน้ำแข็ง สมุนไพรพอกแผล ดื่มสุรา กินยาแก้ปวดที่มีส่วนผสมของแอสไพริน การกระทำเหล่านี้ไม่ช่วยรักษาผู้ถูกงูกัด แต่จะมีผลเสีย และที่สำคัญทำให้เสียเวลาที่จะนำส่งผู้ถูกงูกัดไปสถานพยาบาล

- เคลื่อนไหวร่างกายโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณที่ถูกงูกัดให้น้อยที่สุด การเคลื่อนไหวร่างกายมากๆ อาจจะทำให้มีการดูดซึมพิษงูจากบริเวณที่ถูกกัดเข้าสู่ระบบไหลเวียนเลือดมากขึ้น และถ้าทำได้ให้ใช้ไม้ดามบริเวณที่ถูกงูกัดและใช้ผ้าพันยึดหรือผ้าสะอาดพันทับให้แน่นพอประมาณ คล้ายการปฐมพยาบาลผู้ป่วยกระดูกหัก หรือข้อมือ ข้อเท้าซ้น

- ไม่ควรขันชะเนาะ อาจทำให้เนื้อเยื่อบริเวณนั้นๆ ขาดเลือดไปเลี้ยง เกิดเป็นเนื้อตาย

- นำส่งสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด เร็วที่สุด

- ระหว่างการนำส่ง ถ้าผู้ป่วยหยุดหายใจช่วยให้หายใจ เช่น การช่วยหายใจแบบปากต่อปาก จะช่วยชีวิตผู้ป่วยได้นานพอที่จะไปรับการรักษาที่สถานพยาบาลได้ เพราะงูพิษบางอย่าง เช่น งูเห่า งูจงอาง งูสามเหลี่ยมและงูทับสมิงคลา มีพิษทำให้ร่างกายเป็นอัมพาตทั้งตัว ผู้ถูกงูกัดจะเสียชีวิตจากการหยุดหายใจ

โรคติดต่อที่พบบ่อยช่วงน้ำท่วมและหลังน้ำลด

'โรคผิวหนัง'ที่พบบ่อย ได้แก่ โรคน้ำกัดเท้า โรคผิวหนังจากเชื้อรา แผลพุพอง เป็นหนอง เป็นต้น ซึ่งเกิดจากการย่ำน้ำหรือแช่น้ำที่มีเชื้อโรค หรือความอับชื้นจากเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่ไม่สะอาด ไม่แห้งเป็นเวลานาน

อาการในระยะแรกอาจมีอาการเท้าเปื่อย และเป็นหนอง ต่อมาเริ่มมีอาการคันตามซอกนิ้วเท้า และผิวหนังลอกออกเป็นขุย มีผื่นระยะหลังๆ ผิวหนังที่เท้าเกิดพุพอง นิ้วเท้าหนาและแตก อาจเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น ผิวหนังอักเสบได้

การดูแลตนเองเบื้องต้น ควรหลีกเลี่ยงการย่ำน้ำโดยไม่จำเป็นถ้าจำเป็นต้องย่ำน้ำ ควรใส่รองเท้าบู๊ตกันน้ำ และเมื่อกลับเข้าบ้านควรล้างเท้าให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำสะอาด แล้วเช็ดเท้าให้แห้งสวมใส่ถุงเท้า รองเท้า และเสื้อผ้าที่สะอาดไม่เปียกชื้น หลังย่ำน้ำใช้น้ำสะอาดใส่ถัง เกลือแกง 1-2ช้อนชา แช่เท้า 10นาที เช็ดให้แห้งและหากมีอาการเท้าเปื่อย คัน ให้ทายารักษาตามอาการ



โดย oOfonOo [ 29 พ.ย. 2554 : 09:46:30 ]

ความเห็นที่ 2
หากมีบาดแผล ควรใช้แอลกอฮอล์เช็ดแผล แล้วทาด้วยยาฆ่าเชื้อเช่น เบตาดีน

ถ้าป่วยเป็น 'โรคตาแดง' การดูแลตนเองเบื้องต้นนั้นเมื่อมีอาการของโรค ควรพบแพทย์เพื่อรับยาหยอดตา หรือยาป้ายตาป้องกันภาวะแทรกซ้อน โดยใช้ติดต่อกันประมาณ 7วัน หากมีไข้ให้รับประทานยาลดไข้แก้ปวดตามอาการ หมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่บ่อยๆ ไม่ควรขยี้ตา อย่าให้แมลงตอมตา และไม่ควรใช้สายตามากนัก ผู้ป่วยควรนอนแยกจากคนอื่นๆ และไม่ใช้สิ่งของต่างๆ ร่วมกันและไม่ควรไปในที่มีคนมาก เพื่อไม่ให้โรคแพร่

ถ้ามีอาการปวดตารุนแรง ตาพร่ามัว หรืออาการไม่ทุเลาภายใน1สัปดาห์ต้องรีบพบแพทย์อีกครั้ง

สำหรับ 'โรคอุจจาระร่วง' หากผู้ป่วยเป็นเด็กที่ดื่มนมแม่ ให้ดื่มนมต่อได้ตามปกติ พร้อมป้อนสารละลายน้ำตาลเกลือแร่บ่อยๆ

หากผู้ป่วยเป็นเด็กที่ดื่มนมผงชง ให้ผสมนมจางลงครึ่งหนึ่งของที่เคยดื่ม และให้ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่สลับกันไป

ไม่ควรกินยาเพื่อให้หยุดถ่าย เพราะจะทำให้เชื้อโรคค้างอยู่ในร่างกาย ซึ่งจะเป็นอันตรายมากขึ้น

ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำหรืออาหารเหลวมากๆ ให้ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ (โออาร์เอส) หรือเตรียมสารละลายเกลือแร่เอง โดยผสมน้ำตาลทราย 2ช้อนโต๊ะ กับเกลือป่นครึ่งช้อนชา ละลายในน้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว 1ขวดกลม หรือ 750ซีซี ให้ผู้ป่วยดื่มบ่อยๆทดแทนน้ำและเกลือแร่ หากดื่มไม่หมดใน 1วัน ให้เททิ้ง

หากมีอาการมากขึ้น เช่น อาเจียนมาก ไข้สูง ชักหรือซึมมาก ต้องไปพบแพทย์โดยเร็ว

ข้อมูลจาก :คู่มือประชาชนสำหรับป้องกันโรคที่มากับน้ำท่วม,สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

อาหารสุก-สะอาดปลอดภัย

การใส่ใจอาหารที่รับประทาน ตั้งแต่วัตถุดิบ เครื่องปรุง ภาชนะที่ใช้ในการประกอบอาหาร ภาชนะใส่อาหาร ต้องสะอาด ถูกสุขลักษณะ เก็บรักษาอาหารให้มิดชิดปลอดภัยจากแมลงวันและสัตว์นำโรคเป็นสิ่งสำคัญ ให้หลีกเลี่ยงอาหารที่เน่าเสียได้ง่าย เพื่อป้องกันการเกิดโรคระบบทางเดินอาหาร ต้องมีพฤติกรรมอนามัยที่ถูกต้องคือ กินร้อน ใช้ช้อนกลาง ล้างมือให้สะอาดก่อนกินอาหารและหลังขับถ่าย

ในสถานการณ์น้ำท่วม หากได้รับอาหารกล่อง หรืออาหารบรรจุถุงพร้อมบริโภค ควรกินภายใน 2-4ชั่วโมง ไม่ควรเก็บอาหารไว้นานๆ ข้ามมื้ออาหาร สังเกตลักษณะสภาพ สี กลิ่นของอาหารว่า บูดเสีย หรือไม่ หากอาหารมีลักษณะผิดปกติ ห้ามชิมหรือกิน ให้ทิ้งในถุงดำ และนำไปกำจัดต่อไป หากต้องนำอาหารค้างมื้อมากินควรอุ่นให้สุกอย่างทั่วถึงก่อน

อาหารจากการบริจาค เช่น อาหารแห้ง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และเครื่องกระป๋อง ก่อนจะบริโภค ควรตรวจวันหมดอายุ หรือดูสภาพ สีกลิ่นและภาชนะบรรจุ หากหมดอายุหรือมีลักษณะผิดปกติให้ทิ้งทันที



โดย oOfonOo [ 29 พ.ย. 2554 : 09:47:09 ]

ความเห็นที่ 3
น้ำดื่ม-น้ำใช้สะอาด

วิธีการทำน้ำดื่ม-น้ำใช้ให้สะอาด

1. ต้มให้เดือดนาน 5นาที เพื่อทำลายเชื้อโรคในน้ำ และช่วยทำลายความกระด้างของน้ำได้ น้ำที่นำมาต้มควรเป็นน้ำที่ใสสะอาดผ่านการกรองหรือทำให้ตกตะกอนแล้ว

2. ใช้สารส้มกวนในน้ำ สังเกตตะกอนในน้ำเริ่มจับตัว นำสารส้มออกใช้มือเปล่ากวนน้ำต่ออีก1-2นาที ตั้งทิ้งไว้จนตกตะกอน ใช้สายยางจุ่มไปที่ก้นภาชนะบริเวณที่เกิดตะกอน ดูดตะกอนออกจนหมด เหลือแต่น้ำใส เติมคลอรีนตามปริมาณและวิธีการที่กำหนดก่อนการนำไปใช้

3. การใช้คลอรีน เพื่อฆ่าเชื้อโรคในน้ำทำได้โดย - คลอรีนชนิดผง ผสมผงปูนคลอรีน 60%ในอัตราส่วนคลอรีน 1/2ช้อนชาในน้ำ 1แก้ว คนให้เข้ากันทิ้งไว้ให้ตกตะกอน รินเฉพาะส่วนที่เป็นน้ำใสผสมในน้ำสะอาด 10ปี๊บ ตั้งทิ้งไว้ประมาณ 30นาทีก่อนนำไปใช้

- คลอรีนชนิดเม็ด มีหลายขนาด เช่น ขนาด 2.5กรัม 3กรัม หรือ 5กรัมต่อเม็ด ให้ผสมน้ำในสัดส่วนตามฉลากที่ระบุไว้ข้างกระป๋อง

- คลอรีนชนิดน้ำ ใช้หยดลงในน้ำ 1-2หยดต่อน้ำ 1ลิตร4. ปิดฝาภาชนะใส่น้ำให้มิดชิด และจัดให้มีภาชนะที่สะอาดสำหรับตักน้ำ ในกรณีใช้น้ำดื่มบรรจุขวด จะต้องดูตราเครื่องหมาย อย. (ก่อนดื่มให้สังเกตความสะอาดของน้ำภายในขวดว่ามีสิ่งปลอม ปนหรือไม่) ควรทำลายขวด ภาชนะบรรจุโดยทุบบีบให้เล็กลง ก่อนนำไปทิ้งในถุงดำ เพื่อง่ายและสะดวกต่อการนำไปกำจัด



โดย oOfonOo [ 29 พ.ย. 2554 : 09:47:24 ]

Member
204 ศิษย์เก่า และ 54 บุคคลทั่วไป