
น้ำท่วมปีนี้น้ำมามากเป็นพิเศษ ทั้งน้ำเหนือ น้ำฝน น้ำทะเลหนุนสูงทำให้มีมวลน้ำล้อมกรุงเทพฯ อยู่จำนวนมหาศาล และเริ่มเน่าส่งกลิ่นเหม็นคลุ้ง ไม่สะอาดพอแก่การบริโภค ในภาวะน้ำหลากเช่นนี้ จึงเกิดภาวะขาดแคลนน้ำสะอาด ขณะที่ระบบน้ำประปาก็เริ่มส่อแววมีปัญหา เราจึงควรรู้วิธีทำน้ำให้สะอาดไว้อีกทางหนึ่ง จะได้ใช้น้ำได้อย่างสบายใจ ไม่เสี่ยงติดโรคที่มากับน้ำ หลายครัวเรือนที่มีภาชนะกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ แต่ก็อย่าชะล่าใจ ยิ่งถ้าโอ่งหรือแท็งก์น้ำอยู่ในระดับที่น้ำท่วมถึงได้ ต้องเฝ้าระวังคุณภาพของน้ำเป็นพิเศษ เพราะน้ำข้างนอกอาจเข้าไปปะปนได้
ในภาวะวิกฤติน้ำท่วม แม้จะมีน้ำเจิ่งนองมากมาย แต่สิ่งที่ขาดแคลนในขณะนี้ และมีความจำเป็นในการดำรงชีวิต คือ น้ำดื่ม ภาวะน้ำท่วมนี้น้ำดื่มเป็นสิ่งที่หาได้ยากยิ่ง และไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนที่ต้องการน้ำดื่มที่สะอาดเป็นจำนวนมาก ทำให้ขาดแคลนน้ำดื่ม ดังนั้นเราควรรู้ที่จะใช้ หรือการทำน้ำดื่มอย่างถูกต้อง ฉบับนี้ขออาสาให้เรา ท่านใช้น้ำที่มีอยู่น้อยนั้นให้มีประโยชน์มากที่สุด
วิธีการทำน้ำให้สะอาดปลอดจากเชื้อโรคจริง ๆ นั้นมี 3 วิธีด้วยกัน คือ การใช้ความร้อน ใช้สารเคมี และการกรอง การทำน้ำให้สะอาดแต่ละวิธีขึ้นอยู่กับว่าต้องการความสะอาดระดับใด รวมถึงความพร้อมของเครื่องมืออุปกรณ์ด้วย ถ้าใช้น้ำเพื่อบริโภคต้องใช้ความร้อน จะทำให้น้ำปลอดจากเชื้อโรคได้ดีที่สุด โดยแนะนำให้ต้มน้ำให้เดือดอย่างน้อย 1นาที เนื่องจากน้ำดื่มที่ไม่สะอาดทำให้เกิดโรคได้มาก เช่น ติดเชื้อในทางเดินอาหาร อหิวาตกโรค หรือท้องร่วงจากการติดเชื้ออื่น ๆ ได้
กรมอนามัยแนะนำว่า คุณภาพน้ำประปาจะใช้สารเคมีในการทำน้ำให้สะอาด ถึงแม้จะมีน้ำท่วมไหลลงสู่คลองประปาแล้วบางส่วน แต่เมื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตจะมีการตรวจคุณภาพน้ำ ทั้งโลหะหนัก สารตะกั่ว สารหนู ยาฆ่าแมลง และเติมคลอรีนก่อนแจกจ่ายไปยังบ้านเรือนประชาชน หากประชาชนจะทำบ้าง แนะนำให้ใช้คลอรีนดีที่สุด เพราะมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อก่อโรคได้มากกว่า 99%โดยเฉพาะอีโคไล (E.coli) และเชื้อไวรัสที่มากับน้ำคลอรีนจะฆ่าเชื้อเหล่านี้ได้ แต่ข้อเสียของคลอรีน คือ น้ำอาจมีกลิ่นชัดเจน วิธีแก้ทำได้โดยใช้วิตามินซี เติมลงไปในน้ำหลังเสร็จสิ้นกระบวนการแล้ว
กรณีถ้าใช้ด่างทับทิม ห้ามใช้ดื่มหรือบริโภค ให้ใช้เฉพาะการชำระล้างเท่านั้น อีกวิธีหนึ่ง คือ การกรอง วิธีนี้เหมาะสำหรับน้ำที่ใช้เพื่อการชำระล้าง เพราะขนาดของรูกรองมักใหญ่เชื้อไวรัสจึงเล็ดลอดได้ น้ำที่ได้จึงสะอาดไม่เพียงพอ
ถ้าต้องการใช้บริโภค ควรใช้การต้ม หรือใช้สารเคมีร่วมด้วย สำหรับครัวเรือนที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง หากประเมินแล้วว่าน้ำไม่เน่าเสียจนเกินไป ต้องใช้น้ำขุ่นในช่วงน้ำท่วม ควรทิ้งให้ตกตะกอนหรือใช้สารส้มกวนน้ำเพื่อเร่งให้ตะกอนขุ่น และเชื้อโรคบางส่วนตกตะกอนลงก้นภาชนะ และนำเฉพาะน้ำส่วนที่ใสมาผ่านกระบวนการทำน้ำให้สะอาด เช่น ต้มให้เดือด หรือเติมคลอรีนต่อไป
กรณีที่ซื้อน้ำบรรจุขวดจะต้องดูว่ามีเครื่องหมาย อย.หรือไม่ สังเกตความใสสะอาดของน้ำภายในขวดว่ามีสิ่งปลอมปนหรือไม่ รวมถึงตรวจเช็กฉลากพลาสติกหุ้มฝาขวดว่ามีความแข็งแรงหรือไม่ เพราะอาจมีการนำขวดน้ำอื่นมาบรรจุใส่แทนแล้ววางขาย โดยเฉพาะน้ำดื่มขวดขุ่นต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เพราะควบคุมคุณภาพน้ำได้ยาก ในภาวะที่น้ำดื่มเริ่มขาดแคลน ผู้บริโภคอาจมีตัวเลือกที่ไม่มากนัก แต่ก็ต้องเลือกกันหน่อย ถ้าคุณภาพน้ำไม่ดี ก็ไม่ควรใช้อาบ ดื่ม กิน เสี่ยงเข้าโรงพยาบาลแขวนถุงน้ำเกลือเอาง่าย ๆ ได้
โดยคุณ : oOfonOo เมื่อ 18 พ.ย. 2554 : 09:19:52