
ปัญหาใหญ่ที่ต้องจับตาหลังน้ำลดคือเรื่องการระบาดของโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ที่แพร่กระจายมากับน้ำ โดยเฉพาะโรคฉี่หนู โรคทางเดินหายใจ และทางเดินอาหาร การระวังป้องกันสุขภาพในเบื้องต้นจึงเป็นเรื่องที่ประชาชนพึงระวังเป็นอันดับแรก
นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า แม้ขณะนี้จะเริ่มมีน้ำลดในหลายพื้นที่ประชาชนบางส่วนเริ่มกลับไปสำรวจความเสียหายของบ้าน ซึ่งหากจะเริ่มทำความสะอาดบ้านควรรอให้น้ำลดลงถึงระดับข้อเท้าก่อนจึงจะเริ่มทำความสะอาด เพราะจะชะล้างตะกอนที่ตกตามพื้นให้ออกได้ง่าย แต่หากปล่อยจนแห้งจะล้างออกยากมาก
"ที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือโรคฉี่หนูและสัตว์เลื้อยคลาน ดังนั้นเวลาทำความสะอาดบ้านต้องใส่ถุงมือยางแบบยาว รองเท้าบู๊ต และสวมแว่นตา เวลาใส่ก็ต้องเอาถุงพลาสติกมัดให้แน่นอย่าให้น้ำเข้า เวลาหนูมันหากินจะปล่อยฉี่ไปตลอดทาง เมื่อน้ำท่วมและเป็นน้ำนิ่งเชื้อมันอยู่ในน้ำได้นานเป็นเดือน" นพ.พรเทพ กล่าว
ในกรณีที่มีกองเสื้อผ้า ที่มีหนูพักอาศัยหรือได้กลิ่นฉี่หนูบริเวณนั้น ขอแนะนำว่าให้เอาไปตากแดดเสียก่อนเพื่อฆ่าเชื้อ อย่าเอาไปซักทันทีเพราะอาจติดเชื้อระหว่างการซักด้วยมือได้
"บางที่น้ำที่เฉอะแฉะก็อย่าไปเดินด้วยเท้าเปล่าเพราะเราไม่รู้ว่าจุดไหนที่มีหนูที่อยู่ตามท่อขึ้นมาหากินบ้าง หรือหากเห็นว่าบ้านแห้งแล้วก็อย่าประมาทเพราะเชื้อโรคมันตกตะกอน ถ้าโดนมือแล้วไปทานข้าวหรือขยี้ตา ก็จะทำให้ติดเชื้อโรคตาแดงและโรคทางเดินอาหารได้เช่นกัน" นพ.พรเทพ กล่าว
นอกจากนี้แล้ว ในกรณีที่มีเด็กขอแนะนำว่าห้ามพากลับไปอยู่บ้านในวันแรกเด็ดขาด เพราะเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยทั้งกลิ่นของน้ำและการติดเชื้อโรคจากการสัมผัส
ทั้งนี้ หากเชื้อฉี่หนูเข้าสู่ร่างกายจะมีเวลาฟักตัว 10 วัน ในช่วงวันที่ 2 จะเริ่มมีอาการไข้ขึ้นสูง ปวดน่อง ปวดหัว หากทานยาแล้วไม่หายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าติดโรคฉี่หนู
"โรคอื่นๆ เช่น ไข้หวัด ทางเดินอาหาร หรือไข้เลือดออกก็มีหลังน้ำลดด้วย แต่ที่เรากลัวที่สุดคือโรคฉี่หนูเพราะเป็นอันตรายถึงชีวิต ปกติอัตราการตายกับอัตราการเจ็บป่วยอยู่ที่ 1% แต่ปัจจุบันมีสัญญาณอันตรายเพราะเพิ่มเป็น 5% แล้ว" นพ.พรเทพ กล่าว
ทั้งนี้ นอกจากเรื่องโรคก็ต้องระวังเรื่องแมลงสัตว์กัดต่อยและการเสียชีวิตจากไฟดูด ให้พึงสังวรว่าห้ามใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าใดๆ ระหว่างทำความสะอาดบ้าน เครื่องใช้ไฟฟ้าที่จมน้ำต้องตากแดดให้แห้งก่อนและให้ช่างไฟมาตรวจสอบระบบไฟทั้งหมด เพราะน้ำอาจเข้าไปอยู่ตามแนวสายไฟหรือท่อวางสายไฟฟ้าด้วย
ขณะเดียวกัน ต้องมีการจัดการขยะอย่างเป็นระบบเพราะขยะเป็นแหล่งรวมเชื้อโรคและแมลงพาหะจำนวนมาก ต้องมีการแยกขยะเปียกขยะแห้งรวบรวมไว้ทั้งชุมชนแล้วโทร.เรียกรถขยะของกรุงเทพมหานคร (กทม.) มาเก็บโดยเร็ว
พญ.มนทิรา ทองสาริ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม.แนะนำว่า นอกจากเรื่องโรคฉี่หนูแล้ว ควรระวังเชื้อที่ติดตามตะไคร่หรือคราบเชื้อราต่างๆ ซึ่งจะเป็นสาเหตุของโรคทางเดินหายใจ ต้องสวมถุงมือ ถุงเท้ากันน้ำ หากมีบาดแผลให้ใช้พลาสเตอร์ปิดแผลให้มิดชิด และหากอยู่ในที่ที่มีความชื้นสูงก็ควรใส่หน้ากากอนามัยด้วย
โดยคุณ : oOfonOo เมื่อ 15 พ.ย. 2554 : 09:00:34