
แนะกำจัดจุดอ่อนสกัดเชื้อโรคเข้า ชี้โชคร้ายถึงตายได้ แจกยากันน้ำกัดเท้ารับได้ฟรีที่หน่วยแพทย์เคลื่อนที่หรือโรงพยาบาลสังกัดกทม.
นพ.สราวุฒิ สนธิแก้ว ผอ.สำนักการแพทย์กทม. เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 11 ต.ค. – 7 พ.ย. 54 มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ กทม.ด้วยโรคผิวหนัง โรคน้ำกัดเท้าถึง 1,182 ราย ซึ่งโรคที่มักพบมากที่สุดหลังเกิดภาวะน้ำท่วมคือ โรคน้ำกัดเท้า เกิดจากการเดินย่ำน้ำบ่อยๆ หรือยืนแช่น้ำเป็นเวลานานๆ จนเท้าเปื่อย โดยเฉพาะซอกเท้า บริเวณผิวหนังที่เปื่อยจะเป็นจุดอ่อนที่ทำให้เชื้อโรคที่มากับน้ำเข้าสู่ร่างกายได้โดยง่าย หรือเกิดผื่นคันตามใบหน้าและลำตัว ก่อให้เกิดความรำคาญจากอาการคันคะเยอ หากโชคร้ายไปสัมผัสถูกเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อ เล็บโตสไปร่า (Leptospira) ก็อาจทำให้เกิดโรคเลปโตสไปโรซีส หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า โรคฉี่หนู อาจทำให้สูญเสียชีวิตได้
ทั้งนี้ วิธีง่ายๆ สำหรับการป้องกันคือ ดูแลผิวหนังให้แห้งและสะอาดอยู่เสมอ หากหลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำสกปรกไม่ได้ ก็ควรล้างทำความสะอาดผิวหนังด้วยน้ำสะอาดและสบู่แล้วเช็ดให้แห้ง โดยเฉพาะซอกนิ้วเท้า และหากมีบาดแผลควรล้างด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น น้ำด่างทับทิม แล้วทายาฆ่าเชื้อหรือยาปฏิชีวนะ หากปล่อยทิ้งไว้ผิวที่ลอกเปื่อยจะชื้นและติดเชื้อราได้ ซึ่งสังเกตได้จากอาการบวมแดง มีขุยขาวเปียก และมีกลิ่นเหม็น ถ้าปล่อยทิ้งไว้ให้เป็นเรื้อรัง เชื้อราจะฝังตัวอยู่ในผิวหนัง ทำให้รักษายาก ถึงแม้อาการจะดีขึ้นดูเหมือนหายดีแล้ว แต่เมื่อเท้าอับชื้นก็จะเกิดการลุกลามขึ้นใหม่ เป็นๆ หายๆ ไม่หายขาด...
สำหรับผู้ประสบอุทกภัยสามารถรับยากันน้ำกัดเท้าได้ “ฟรี” ที่หน่วยแพทย์เคลื่อนที่หรือโรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ ทั้ง 8 แห่ง โดยติดตามกำหนดการออกหน่วยแพทย์/โรงพยาบาลเคลื่อนที่ได้ที่ www.msdbangkok.go.th
โดยคุณ : oOfonOo เมื่อ 10 พ.ย. 2554 : 09:12:24