"สำนักงานศิษย์เก่าสัมพันธ์ มธ." ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "สำนักงานธรรมศาสตร์สัมพันธ์" ตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการจัดตั้งและการแบ่งส่วนงานของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.2559
เมื่อต้องพาลูกอพยพหนีน้ำท่วมควรเตรียมอะไร

ท่ามกลางสถานการณ์น้ำท่วมที่ขยายวงกว้างไปทั่วกรุงเทพมหานคร เกิดความโกลาหลไปทั่ว เพราะผู้คนต่างวิตกกังวลว่าภัยร้ายจะมาถึงตัวเมื่อไร หลายครอบครัวเลือกเดินทางออกนอกพื้นที่ไม่ว่าจะไปบ้านญาติพี่น้อง หรือถือโอกาสไปพักผ่อนต่างจังหวัด เพราะรัฐบาลย้ำนักหนาขอให้ผู้คนในเขตพื้นที่เสี่ยงอพยพออกนอกพื้นที่ แต่ก็มีครอบครัวอีกจำนวนไม่น้อยที่เลือกจะอยู่บ้านเพื่อเผชิญปัญหารับมือกับน้ำอยู่ที่บ้าน

การจัดการปัญหาของแต่ละคนแตกต่างกันไป ลำพังครอบครัวหนุ่มสาวการอพยพไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ถ้าสำหรับครอบครัวที่มีเด็กอยู่ด้วยปัญหามีมากกว่าที่คิดแน่นอน เพราะพ่อแม่ส่วนใหญ่มักจะตัดสินใจอพยพก็เพราะมีลูกเล็ก ขอปลอดภัยไว้ก่อนดีกว่า

ฉะนั้น ถ้าคุณเลือกหนทางอพยพโดยมีเจ้าตัวเล็กไปด้วย สิ่งที่ต้องคำนึงถึงมีอะไรบ้าง

ประการแรก เรื่องอาหารการกิน

เด็กเล็ก - ถ้าเป็นวัยทารกยังกินนมแม่อยู่ ก็สามารถที่จะให้นมแม่ต่อไปได้ ซึ่งจะเป็นการดีด้วย ไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องการพกพานมกระป๋อง ไหนจะน้ำร้อนอีก ไหนจะเรื่องการทำความสะอาดอีก ฉะนั้น ถ้าสามารถให้นมแม่ได้ก็ให้ไปเถอะค่ะ เพียงแต่แม่ต้องดูแลเรื่องอาหารการกินของตัวเองเพื่อให้ได้คุณค่าทางโภชนาการให้มากที่สุดค่ะ แต่ถ้าให้นมกระป๋องก็ต้องมีการเตรียมการมากหน่อย เพราะต้องมีขวดนม อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ต้องใช้กับขวดนม กระติกน้ำร้อน ซึ่งหมายถึงต้องมีน้ำดื่มติดตัวในท่ามกลางการหาน้ำดื่มยากสักหน่อย

เด็กโต - สามารถกินอาหารเหมือนผู้ใหญ่ได้ ปัญหาน้อยกว่าเด็กเล็ก แต่ต้องดูแลเรื่องความสะอาดเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าต้องอพยพไปอยู่ในศูนย์อพยพชั่วคราว หรือต้องไปอยู่ในกลุ่มคนจำนวนมาก โอกาสที่จะมีปัญหาเรื่องโรคภัยไข้เจ็บก็มีตามมาได้ด้วย เช่น ท้องเสีย ฯลฯ

ประการที่สอง ข้าวของเครื่องใช้

เด็กเล็ก - นำเฉพาะสิ่งของที่จำเป็นของลูกเท่านั้น เช่น เสื้อผ้า อุปกรณ์การนอน ผ้าอ้อม ฯลฯ ต้องเตรียมพร้อมให้ดี แต่อย่าพะรุงพะรัง ประเมินว่าต้องอพยพไปนานขนาดไหน ต้องเตรียมประมาณเท่าไร ในสถานการณ์อย่างนี้การใช้ผ้าอ้อมผ้าอาจจะไม่เหมาะ เพราะต้องทำความสะอาด ซึ่งอาจมีปัญหาเรื่องเชื้อโรคด้วย แต่ถ้าย้ายไปบ้านญาติพี่น้องก็สามารถใช้ได้

เด็กโต - ควรให้ลูกตรวจดูของใช้ที่จำเป็นของตัวเขาเองด้วย จะได้ฝึกให้เขาได้เรียนรู้เรื่องการเตรียมตัวในสถานการณ์วิกฤติด้วยว่าต้องรับมืออย่างไร แต่ผู้ใหญ่อย่าลืมตรวจสอบอีกครั้งด้วย

ประการที่สาม ของเล่นติดตัว

เด็กเล็ก - ของเล่นเป็นสิ่งจำเป็นยิ่ง เพราะคุณอาจต้องอพยพหลายวัน ควรนำติดตัวไปบ้างจะช่วยให้ลูกเพลิดเพลินในขณะที่ต้องไปอยู่ที่ใดที่หนึ่งในระยะเวลาหนึ่ง

เด็กโต - ให้เขาเป็นคนเลือกของเล่นติดตัวของเขาเอง อธิบายให้เขาเข้าใจว่าเราอาจจะต้องไปอยู่ที่ใดที่หนึ่งเป็นระยะเวลานาน ให้นำอุปกรณ์หรือของเล่นที่เขาชอบติดตัวไปด้วย หรืออาจจะเป็นหนังสือเล่มโปรด อุปกรณ์งานศิลปะก็ได้ จะช่วยให้ลูกมีกิจกรรมทำในระยะเวลานั้นๆ



โดยคุณ : oOfonOo เมื่อ 7 พ.ย. 2554 : 09:24:32  

ความเห็นที่ 1
ประการที่สี่ เครื่องมือปลอดภัย

เด็กเล็ก - นำชูชีพหรือห่วงยางขนาดพอดีกับตัวเด็กติดไปด้วย เพราะอาจเกิดเหตุการณ์จำเป็นหรือต้องนั่งเรือก็ควรจะสวมให้ลูกทุกครั้ง

เด็กโต - ก็ควรนำชูชีพ ห่วงยาง เตรียมไว้ เพราะถ้าน้ำมาไม่ลึกแต่แรงอาจคว้าไว้ไม่ทันก็เป็นได้ หรืออาจจะเตรียมเรือยางของลูกไปด้วยก็ได้

สิ่งของเพิ่มเติมที่พ่อแม่ควรเตรียมติดไปด้วยคือ ยาทากันยุง ผ้าห่ม ผ้าเช็ดหน้า เจลล้างมือ ยารักษาโรคหรือยาประจำตัว ฯลฯ

ประการที่ห้า ชวนลูกเตรียมการ

กรณีที่ลูกโต ควรสอนลูกให้คิดว่าถ้าน้ำท่วม จะเอาอะไรไปไว้ในที่สูงได้บ้าง ควรทำอะไร ย้ายอะไร ก่อนหลัง ให้ลูกได้มีส่วนร่วมตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผน อาจแบ่งหน้าที่กันไว้ล่วงหน้าว่าใครรับผิดชอบอะไรบ้าง ให้ลูกได้ร่วมลงมือปฏิบัติ มอบความรับผิดชอบให้ลูก เพื่อที่เขาจะได้รู้สึกว่าตัวเองมีความสำคัญ มีคุณค่าในตัวเอง เพราะถ้าคุณปล่อยให้เด็กอยู่เฉยๆ เด็กจะคิดถึงแต่ด้านความเสียหาย

ที่สำคัญเวลาฉุกเฉินจะได้ไม่แย่งกันทำสิ่งเดียวกัน แล้วที่เหลือไม่มีคนสนใจ

ประการสุดท้าย พูดคุยกับลูกให้เข้าใจ

พ่อแม่ต้องพูดคุยอธิบายให้ลูกเข้าใจโดยคำนึงถึงวัยของลูกเป็นสำคัญ ถ้าเด็กเล็กไม่เป็นปัญหา แต่เด็กโตต้องพูดคุยให้ฟังว่าเราต้องอพยพเพราะอะไร และเราจะกลับเมื่อปัญหาต่างๆ ดีขึ้น เพื่อไม่ให้ลูกรู้สึกตกใจหรือกังวลใจเกินเหตุ เพราะเด็กบางคนก็ไม่สามารถบอกความรู้สึกของตัวเองได้ แต่เก็บสะสมความเครียดเอาไว้

นอกจากนี้ เวลาที่ภัยมาถึงตัว ผู้ใหญ่มักจะยุ่งมากเพราะต้องมีเรื่องต้องทำมากมาย แต่สิ่งสำคัญคืออย่าลืมนึกถึงความรู้สึกของลูกด้วย เมื่อมีจังหวะควรถามไถ่ถึงความรู้สึก และพูดคุยให้ลูกมั่นใจว่าแล้วทุกอย่างจะดีขึ้น

ใครจะไปรู้ว่าบางสิ่งที่พ่อแม่ลืมเมื่อเกิดเหตุฉุกละหุก ลูกอาจจะเป็นคนที่มีสติดีที่สุดก็ได้



โดย oOfonOo [ 7 พ.ย. 2554 : 09:24:41 ]

Member
204 ศิษย์เก่า และ 54 บุคคลทั่วไป