"สำนักงานศิษย์เก่าสัมพันธ์ มธ." ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "สำนักงานธรรมศาสตร์สัมพันธ์" ตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการจัดตั้งและการแบ่งส่วนงานของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.2559
อารมณ์เหวี่ยง 'สาวออฟฟิศ' ต้นเหตุโรคทำลายสุขภาพ


จากการสำรวจของสวนดุสิตโพลเผยให้ทราบว่า อาชีพสาวออฟฟิศ ถือเป็นอาชีพที่ก่อให้เกิดความเครียดและอารมณ์เหวี่ยงในผู้หญิงติดอันดับหนึ่ง ซึ่งสาเหตุนั้นมาจากทั้งปัจจัยภายนอกและภายใน ไม่ว่าจะเป็นภาระหน้าที่ความรับผิดชอบในการดูแลสมาชิกในครอบครัว ประกอบกับการที่ผู้หญิงต้องทำงานนอกบ้านไปพร้อมๆ กัน รวมทั้งปัจจัยภายในที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนก่อนมีประจำเดือน 5 วัน หรือที่เรียกกันว่า PMS ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงออฟฟิศ เกิดความเครียดและมีอารมณ์ฉุนเฉียวได้ง่าย

ศ.นพ.สุรศักดิ์ ฐานีพานิชกุล คณบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ช่วงอายุ 25-35 ปีนั้น เป็นวัยที่สาวๆ ออฟฟิศมักตกอยู่ในความเครียดมากที่สุด ดังนั้นวิธีการที่ดีที่สุดคือ

1. ควรหาเวลาออกกำลังกาย เพราะการออกกำลังกายนั้นจะช่วยทำให้ร่างกายหลั่งสารเอนดอร์ฟีน หรือสารแห่งความสุขออกมา และเมื่อสารเหล่านี้ถูกหลั่งออกมา ก็จะสามารถขจัดอารมณ์เครียดหรือฉุนเฉียวลงได้

2. การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอก็ช่วยได้เช่นกัน

3. การรับประทานอาหารที่ดี และมีประโยชน์ เช่น ผักและผลไม้ หรือรับประทานสมุนไพรบางชนิด เช่น แปะก๊วย หรือน้ำมันดอกอีฟนิงพริมโรสและวิตามินบี หากรับประทานผักผลไม้และสมุนไพรยังไม่ได้ผล คุณหมอแนะนำว่า ควรรับประทานยาปรับฮอร์โมน ซึ่งยาดังกล่าวช่วยควบคุมระดับฮอร์โมนบางชนิดในร่างกาย แต่หากอาการรุนแรงและส่งผลต่อคนรอบข้าง อาจต้องรับประทานยาลดความวิตกกังวล (อยู่ในการพิจารณาของแพทย์)

4. การหลีกเลี่ยงจากสภาพที่ ทำให้เกิดความเครียดก็สามารถช่วยได้

นอกจากวิธีที่กล่าวมานั้น คุณหมอแนะนำว่า การปรับสภาพแวดล้อมภายในที่ทำงาน ก็สามารถลดความเครียดและอารมณ์ฉุนเฉียวลงได้ เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่าสาวออฟฟิศมักถูกจำกัดด้วยเวลาที่เร่งรีบ และมีพื้นที่ในการทำงานที่ค่อนข้างแคบ ดังนั้นการปรับเปลี่ยนที่ทำงานให้มีพื้นที่สำหรับออกกำลังกาย รวมถึงเน้นการสื่อสารในที่ทำงานด้วยการพูดคุยกันให้มากขึ้น ก็จะช่วยลดการขัดแย้งหรือข้อผิดพลาดในการทำงานลงได้

และที่สำคัญการจัดเวลาของการทำงานให้เหมาะสม ไม่มากจนเกินไป หรือประมาณ 8 ชั่วโมง ก็เป็นอีกหนทางในการลดความเครียดลงได้ เพราะระยะของการทำงานที่พอดีจะช่วยให้ผู้ทำงานทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ พูดง่ายๆ ว่าไม่เหนื่อยและไม่เร่งรีบมากจนเกินไปก็จะไม่เกิดความเครียดนั่นเอง

คุณหมอกล่าวย้ำว่า หากปล่อยอารมณ์เครียดและอารมณ์เหวี่ยงเอาไว้จะส่งผลกระทบต่อตนเอง โดยเฉพาะด้านจิตใจของตัวผู้เครียดเอง และอาจทำให้ตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า หมดกำลังใจในการทำงานได้ รวมถึงกระทบต่อความสัมพันธ์ในที่ทำงาน ทำให้เพื่อนร่วมงานไม่อยากปฏิสัมพันธ์หรือพบปะพูดคุยด้วย ขณะเดียวกันก็จะส่งผล กระทบต่อความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว อันอาจจะนำมาซึ่งการทะเลาะเบาะแว้ง และเป็นต้นเหตุของการหย่าร้างได้ นอกจากนี้ยังเป็นสาเหตุของโรคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดหัวเรื้อรัง โรคปวดเมื่อยตามร่างกาย หรือโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดต่างๆ ได้

โดยคุณ : oOfonOo เมื่อ 29 ก.ย. 2554 : 08:55:48  

Member
204 ศิษย์เก่า และ 54 บุคคลทั่วไป