โดยปกติผู้หญิงเรามีการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพกายในแทบทุกช่วงชีวิต แต่วิกฤติวัยทองยังเป็นช่วงหนักหนาสาหัสที่สุดของผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพกาย หรือสุขภาพจิต ก่อนหน้านี้มีตัวเลือกในการรักษา หรือบรรเทาปัญหาสุขภาพในช่วงวัยทองน้อยมาก ปัจจุบันความรู้ทางการแพทย์และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้น ช่วยให้คุณผู้หญิงผ่านช่วงวัยทองไปได้อย่างมีความสุข และมีสุขภาพดีได้
ภาวะแทรกซ้อนอันเนื่องจากระดับฮอร์โมนที่ลดลงในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน ยังนำมาซึ่งความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพด้านอื่นๆ ในระยะยาวด้วยเช่นกัน ภาวะที่ส่งผลร้ายแรงที่สุดอย่างหนึ่งคือ โรคกระดูกพรุน
โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis)คือ โรคที่มวลกระดูก หรือความหนาแน่นของเนื้อกระดูก ลดน้อยลงเรื่อยๆ รวมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะโครงสร้างของกระดูก ซึ่งมีผลทำให้กระดูกไม่สามารถจะรับน้ำหนัก หรือแรงกดดันได้ตามปกติ ความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักสูงขึ้น หรือกระดูกหักได้ง่ายขึ้น กระดูกผุก็ได้ เป็นโรคที่พบมากในผู้สูงอายุโดยประมาณ 55-60ปีขึ้นไป พบในหญิงมากกว่าชาย
ในหญิงจะมีการลดลงของเนื้อกระดูกอย่างรวดเร็วในช่วง 5-10ปีแรกหลังหมดประจำเดือน ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนเหล่านี้ เมื่อมีอายุสูงขึ้น จะมีโอกาสเกิดกระดูกหักเพิ่มขึ้นด้วย ที่พบบ่อยที่สุดเป็นการทรุดหักของกระดูกสันหลัง กระดูกข้อมือหัก และสุดท้ายที่มีปัญหา และเกิดโรคแทรกซ้อนได้มากที่สุดคือการหักของกระดูกข้อสะโพก
อาการสำคัญของโรคกระดูกพรุน
ตามปกติโรคกระดูกพรุนไม่มีอาการจนกว่าจะเกิดกระดูกหักขึ้น ถ้ากระดูกสันหลังหักทรุด จะเกิดอาการปวดหลัง ความสูงของลำตัวลดลง หลังจะโก่งค่อม หากหลังโก่งค่อมมากๆ จะทำให้ยิ่งปวดหลังมากขึ้น ถ้ากระดูกข้อสะโพกหัก จะมีอาการเจ็บปวดมาก เดินไม่ได้ และจะต้องได้รับการผ่าตัดดามกระดูก หรือเปลี่ยนข้อไปเลย มีโอกาสที่จะตายประมาณหนึ่งในห้า และมีโอกาสที่จะทุพพลภาพถึงหนึ่งในสาม
วิธีการที่จะทราบได้ว่า เป็นโรคกระดูกพรุนหรือไม่ต้องตรวจวัดความหน่แนนกระดูกว่า อยู่ในระดับใด มีความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุน มากน้อยเพียงใด ช่วยวางแผนการรักษา โดยทั่วไปแพทย์จะแนะนำให้ตรวจ 2บริเวณ คือ กระดูกสันหลังและกระดูกสะโพก
การจะเริ่มให้ยารักษาโรคกระดูกพรุนเมื่อผู้ป่วยเป็นโรคกระดูกพรุนแล้ว มีความเสี่ยงจะเกิดกระดูกหักสูง หรือมีกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุนแล้ว การรักษาจะพิจารณาจากความหนาแน่นของกระดูก (Bone Mineral Density: BMD) เป็นหลัก อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจให้การรักษา มิได้คำนึงเฉพาะค่า T-score อย่างเดียวเท่านั้น แต่คำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย
เรียกว่า “ปัจจัยเสี่ยง” อาทิ อายุของผู้ป่วย ประวัติการเกิดกระดูกหักในอดีต ประวัติการเกิดกระดูกหักในบิดามารดา โรคประจำตัวของผู้ป่วย และปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น น้ำหนักตัว ระยะเวลาหลังจากหมดประจำเดือน พฤติกรรมเสี่ยง เช่น การดื่มเหล้า สูบบุหรี่ สำหรับแนวทางในการรักษาโรคกระดูกพรุน จะประกอบด้วยการบริโภคแคลเซียมให้เพียงพอ การออกกำลังกายที่เหมาะสม การให้ยาเพื่อลดการสลายกระดูก หรือเพิ่มมวลกระดูก การป้องกันการเกิดกระดูกหัก การบรรเทาอาการปวด การแก้ไขภาวะทุพพลภาพรวมทั้งการทำกายภาพบำบัด เมื่อผู้ป่วยเกิดกระดูกหักเพื่อให้ผู้ป่วยพึ่งพาตนเองได้ และมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น
โดยคุณ : oOfonOo เมื่อ 15 ก.ย. 2554 : 08:36:45