ตามที่ได้มีการแก้ไขและประกาศพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 12พฤศจิกายน 2553และเริ่มต้นใช้บังคับเมื่อพ้น 180วัน คือในวันที่ 22พฤษภาคม 2554เป็นต้นมานั้นมีผลให้ศาลเยาวชนและครอบครัวมีอำนาจพิจารณาคดีตามพระราชบัญญัติดังกล่าวตามมาตรา 10 (4) และ (5) คือ คดีคุ้มครองสวัสดิภาพและคดีอื่นๆ ที่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลเยาวชนและครอบครัว เช่น คดีตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรง
พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546มาตรา 40 เด็กที่พึงได้รับความคุ้มครองสวัสดิภาพได้แก่ (1) เด็กที่ถูกทารุณกรรม (2) เด็กที่เสี่ยงต่อการกระทำผิด (3) เด็กที่อยู่ในสภาพที่จำต้องได้รับการคุ้มครองสวัสดิภาพตามที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา 41ผู้ใดพบเห็นหรือประสบพฤติกรรมที่น่าเชื่อว่ามีการกระทำทารุณกรรมต่อเด็กให้รีบแจ้ง หรือรายงานต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจหรือผู้มีหน้าที่คุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก การแจ้งหรือรายงานตามมาตรานี้ เมื่อได้กระทำโดยสุจริตย่อมได้รับความคุ้มครองและไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญา หรือทางปกครอง
พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 มาตรา3 "ความรุนแรงในครอบครัว" หมายความว่า การกระทำใดๆ ที่มุ่งประสงค์ให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพ หรือกระทำโดยเจตนาในลักษณะที่น่าจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจ หรือสุขภาพของบุคคลในครอบครัว หรือบังคับ หรือใช้อำนาจครอบงำผิดครองธรรมให้บุคคลในครอบครัวต้องกระทำการ ไม่กระทำการ หรือยอมรับการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดโดยมิชอบแต่ไม่รวมถึงการกระทำโดยประมาท "บุคคลในครอบครัว" หมายความว่า คู่สมรส คู่สมรสเดิม ผู้ที่อยู่กินหรือเคยอยู่กินฉันท์สามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรส บุตรบุญธรรม สมาชิกในครอบครัว รวมทั้งบุคคลใดๆ ที่ต้องพึ่งพาอาศัย และอยู่ในครัวเรือนเดียวกัน
พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัว และวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 172 ผู้ที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวมีสิทธิร้องขอให้ศาลเยาวชนและครอบครัวที่ตนมีถิ่นที่อยู่หรือภูมิลำเนา หรือศาลที่มีมูลเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นออกคำสั่งกำหนดมาตรการ หรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ตามกฎหมายว่า ด้วยการคุ้มครองผู้ที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวได้ ในกรณีที่ผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวไม่อยู่ในสภาพและวิสัยที่จะร้องขอตามวรรคหนึ่งได้ญาติ พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ พนักงานเจ้าหน้าที่ องค์การซึ่งมีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนตามกฎหมาย หรือองค์การที่มีหน้าที่คุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ หรือทุพพลภาพ ครอบครัว หรือบุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ของผู้เสียหายจะกระทำการแทนก็ได้
โดยคุณ : oOfonOo เมื่อ 5 ก.ย. 2554 : 09:03:41