ไข้ ปวดข้อ ชิคุนกันยา หลายคนเคยได้ยิน เพราะมีการระบาดอย่างรุนแรงและกว้างขวางทางตอนใต้ของประเทศไทยในปี พ.ศ.2551-2552 เชื้อโรคคล้ายภาษาญี่ปุ่นทำให้เข้าใจผิด ความจริง "ชิคุนกันยา" เป็นภาษามาคองดี (Makonde) ซึ่งเป็นภาษาพื้นเมืองของชาวแอฟริกาเรียกว่า "คุนกันยาลา" แปลว่าตัวงอ
ทั้งนี้ เพราะเวลาป่วยมีอาการตัวงอ เพราะปวดตามข้อ ตามร่างกาย จึงเรียกว่า "ไข้ตัวงอ" โรคดังกล่าวพบครั้งแรกที่ประเทศแทนซาเนีย ในปี พ.ศ.2495 ได้เข้าสู่ประเทศไทย มีรายงานครั้งแรกในปี พ.ศ.2501 ที่กรุงเทพมหานคร หลังจาก นั้นโรคนี้ได้พบประปรายในประเทศไทย และได้สงบลงหลังปี พ.ศ.2495 เป็นต้นมา
จนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้มีการระบาดของโรคชิคุนกันยา สายพันธุ์แอฟริกา ในประเทศไทยอย่างรุนแรง มีผู้ป่วยหลายหมื่นรายในปี พ.ศ.2551 ทางตอนใต้ติดชายแดนมาเลเซีย โรคได้ลุกลามเหมือนไฟลามทุ่ง จากใต้ขึ้นเหนือจนกระทั่งเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2552 โรคได้ระบาดถึงชุมพร และตอนใต้ของประจวบคีรีขันธ์ จึงได้สงบลง
โรคชิคุนกันยา มียุงลายสวนที่มีแหล่งอาศัยตามสวนยางเป็นพาหะสำคัญ ทำให้โรคระบาดจำเพาะอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทย ต่างจากไข้เลือดออกที่มียุงลายบ้านเป็นพาหะสำคัญและพบได้ทั่วประเทศไทย
อาการที่สำคัญหลังจากที่ยุงลายสวนที่มีเชื้อกัดจะใช้เวลา 3-5 วัน และจะมีไข้สูงภายใน 3-7 วัน ร่วมกับปวดข้อพร้อมกันหลายๆ ข้อของร่างกาย มีผื่นคล้ายหัด ปวดเมื่อยตามตัว ทางภาคใต้จะเรียกโรคดังกล่าวว่า"หวัดเคล็ด" มีการปวด เคล็ดขัดยอกไปทั่วตัว และมีไข้ อาการปวดข้ออาจจะอยู่นานเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือนก็ได้
ในปัจจุบันไม่มียารักษาจำเพาะใช้รักษาตามอาการ ไม่มีวัคซีนในการป้องกัน การป้องกันที่ดีที่สุดคือทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ป้องกันไม่ให้ยุงกัด เวลาเข้าสวนหรือกรีดยางใส่เสื้อผ้าปกคลุมให้มิดชิดเพื่อป้องกันโรคดังกล่าว
โดยคุณ : oOfonOo เมื่อ 15 ส.ค. 2554 : 09:07:58