"สำนักงานศิษย์เก่าสัมพันธ์ มธ." ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "สำนักงานธรรมศาสตร์สัมพันธ์" ตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการจัดตั้งและการแบ่งส่วนงานของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.2559
สู้ลมฝนฝ่าไอชื้น ด้วยสมุนไพรไทย


ฟ้าฝนหลังเข้าพรรษาปีนี้โหมกระหน่ำทั่วทุกภูมิภาค จึงควรระมัดระวังในการขับขี่ยวดยานทุกชนิด และมารู้จักดูแลสุขภาพให้ดีเพราะเป็นฤดูที่ไม่สบายเพราะฟ้าฝนได้ง่าย ถ้าพูดกันตามภาษาหมอแผนไทย หรือว่ากันตามทฤษฎีโรคของการแพทย์แผนไทย เวลานี้เรียกว่าอุตุสมุฏฐาน อันหมายถึงหลักการที่กล่าวอธิบายโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดจากฤดูกาล เช่นหน้าร้อนมักเกิดโรคอะไร หรือหน้าฝนมักเกิดโรคอะไรนั่นเอง

ถ้าไปเชื่อมโยงกับทฤษฎีธาตุ ซึ่งประกอบด้วยธาตุทั้งสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ ผู้อ่านน่าจะตอบได้ไม่ยากว่า ฤดูฝนชุกแบบนี้มีลมและน้ำ "จัดแรงจัดหนัก" มาให้เรา จึงถือว่าเป็นฤดูกาลที่จะทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับลมและความชื้น (จากน้ำและให้ความเย็นด้วย) โรคที่มากับลมและความเย็นชื้นนี้หนีไม่พ้น อาการไข้หวัดทั้งหลาย ทั้งไข้หวัดน้อยไข้หวัดใหญ่ และยังทำให้อาการกำเริบได้ง่ายของบรรดาโรคทางเดินหายใจ เช่น หอบหืด ไอ ไปจนอาการหนักปอดบวม ปอดอักเสบได้ ฯลฯ

โรคที่มาตามฤดูแบบนี้ป้องกันได้ถ้าเราไม่ประมาทและรู้จักดูแลตนเอง ความรู้โบราณสอนลูกสอนหลานในครัวเรือนว่าหน้าฝนอย่าไปตากฝน แม้ละอองฝนก็อย่าได้วางใจไปท้าทาย เพราะความชื้นจะซึมเข้าร่างกายเราได้ง่ายๆ

หากไปถูกฝนหรือแม้แต่เดินฝ่าฝนพรำๆกลับบ้านก็ควรอาบน้ำสระผม เช็ดผมให้แห้งสนิทอย่าได้ปล่อยความชื้นสะสมไว้บนกระหม่อมที่สำคัญฝนตกๆ อากาศเย็นๆ แบบนี้อย่าได้ดีใจที่หายร้อน จึงนุ่งห่มผ้าเบาบางเกินร่างกายขาดความอบอุ่นจะทำให้ไข้หวัดมาสิงสู่ได้ง่าย

ปู่ย่าตายายจึงมักแนะนำให้ทำตัวให้อบอุ่นเข้าไว้ ใส่เสื้อหนา นอนห่มผ้าอย่าได้ประมาทเพราะหัวค่ำอาจร้อนอบอ้าวแต่ตกดึกจนใกล้รุ่งความเย็นชื้นของฝนที่ตกมาจะแทรกซึมเข้าร่างกายของเราและมักทำให้ป่วยไข้ได้ง่าย

วิธีเพิ่มความอบอุ่นในร่างกายอย่างง่ายอีกประการคือ แนะนำให้ดื่มน้ำอุ่นๆ และดื่มน้ำต้มสมุนไพรที่จะสู้ลมฝนละอองฝนได้อย่างดี และเป็นสมุนไพรในครัวเรือนหาง่ายชงกินในสำนักงานก็ยังทำได้ แนะนำ 2 ชนิด คือขิง และตะไคร้

โดยคุณ : oOfonOo เมื่อ 2 ส.ค. 2554 : 08:59:54  

ความเห็นที่ 1

บางท่านไม่ชอบใจวิธีนี้เพราะน้ำขิงรสเผ็ดร้อนน้อยเกินไป ก็แนะนำให้ใช้ขิงแก่ ทุบพอแตกๆ จำนวนมากน้อยแล้วแต่ต้องการ นำขิงแก่ต้มกับน้ำให้เดือด แล้วต้มเคี่ยวต่ออีกสักพักคล้ายน้ำขิงในเต้าฮวย ก็จะได้น้ำขิงรสเผ็ด ผสมน้ำตาลเล็กน้อย จิบดื่มไล่ความเย็นชื้นจากลมฝนได้ดี

ในการศึกษาสมัยใหม่พบว่า ขิงมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาช่วยลดไข้ได้ นอกจากนี้ ยังเคยทำการทดลองในมนุษย์ โดยให้อาสาสมัครกินขิงวันละ 1.5 กรัม พบว่ามีฤทธิ์แก้ปวดได้ดังนั้น ถ้าไม่อยากกินยาฝรั่ง เริ่มมีไข้หนาวๆ เย็นๆ เพราะลมฝนแบบนี้ กินขิงลดไข้และช่วยบรรเทาอาการปวดหัวได้ด้วย


หาขิงแก่มาสักแง่ง ล้างน้ำ แล้วฝานเป็นแผ่นบางๆ นำมา 3-4 แว่น ใส่แก้วเติมน้ำร้อนปิดฝาทิ้งไว้ 5-10 นาที พอน้ำยาอุ่นๆ ช้อนเอากากออก แต่งรสด้วยน้ำผึ้งหรือน้ำตาลเล็กน้อยจิบดื่มได้ตลอดวัน

ถ้าชอบใจขิง และอยากปรุงสมุนไพรอื่นให้มีรสชาติและสรรพคุณเสริมฤทธิ์กันนั้นจากประสบการณ์ของชาวบ้านที่ใช้สมุนไพรในการพึ่งตนเอง แนะนำว่า เวลาตากฝนแล้วกำลังจะเป็นไข้ ตัวร้อนเล็กน้อย มึนหัว และเริ่มคัดจมูก ให้เอาตะไคร้ 1 ต้น หั่นเป็นแว่นๆแล้วเอาขิงสด (ขิงแก่) นำมาหั่นเป็นแว่นๆ 5-6 แว่น ใส่น้ำ 3-4 แก้ว ต้มจนเดือด ทิ้งไว้ให้น้ำยาอุ่นๆ แบ่งกินครั้งละ 1/2-1 แก้ว กินวัน 3 เวลาหลังอาหาร หรือจะกินถี่กว่านั้นก็ได้ กินแล้วไข้ลด จมูกโล่ง หายใจคล่องขึ้น

บางท่านแนะนำให้ใช้วิธีป้องกันก่อนไปโดนฝน เวลาเช้าอากาศเย็นๆ ชื้นๆ แบบนี้นำตะไคร้ 1 ต้น สับเป็นท่อน ขิงแก่สดเท่าหัวแม่มือ ทุบพอแตก ใส่หม้อต้มกับน้ำ 1 ขวดเดือดแล้วอาจแต่งน้ำตาลเล็กน้อย ให้ดื่มน้ำขิงตะไคร้ทุกเช้า จะช่วยให้รู้สึกตัวอุ่นๆ และทำให้เหงื่อออกเล็กน้อย น้ำที่ต้มไว้เก็บใส่กระติกเก็บความร้อนและแบ่งไว้กินได้ตลอดวัน

บางท่านใช้ตะไคร้ต้มน้ำกินอย่างเดียวก็มีส่วนช่วยขับเหงื่อลดไข้ นอกจากนี้ ยังมีภูมิปัญญาดั้งเดิมเกี่ยวกับวิธีการทำยาตะไคร้โดยเอาต้นตะไคร้สัก 2 ต้น เอาไปเผาไฟพอสุก แล้วเอามาตัดหัวตัดท้าย แล้วทุบให้พอแตก นำไปแช่ในน้ำร้อน กินครั้งละ 1/2 แก้ววันละ 4-5 ครั้ง กินต่อเนื่องสัก 3-4 วัน อาการจะทุเลาลง จนหายไปในที่สุด

ในตำรายาอินเดียบอกว่า น้ำยาชงจากใบตะไคร้ กินขณะอุ่นๆ ใช้ขับเหงื่อในคนที่เป็นไข้ได้ดีมาก โดยเฉพาะคนไข้ที่อ่อนเพลียนั้นยิ่งควรใช้ยาชงตะไคร้ น้ำยาชงตะไคร้เป็นที่นิยมกันมากตามศาสตร์อายุรเวทของอินเดีย

และถ้าหวัดจับงอมแงมไม่ควรอาบน้ำเย็นถ้าต้องการเช็ดตัวและอาบน้ำอุ่น ขอแนะนำยาดีย้อนยุคที่ยังใช้ได้จนถึงยุคโลกออนไลน์โดยเฉพาะรายที่น้ำมูกไหล คัดจมูก หายใจไม่ค่อยออก ให้เอา ตะไคร้ หัวหอมเล็ก และใบมะขาม มาต้มอาบ สรรพคุณยา และกลิ่มน้ำมันหอมระเหยของสมุนไพรทั้ง 3 ชนิดที่มากับไอน้ำร้อนๆ จะช่วยทำให้น้ำมูกลดแห้งลง หายใจโล่ง อาการหวัดหายเร็วขึ้นมาก

มาเรียนรู้การป้องกันและผ่านฤดูฝนนี้ด้วยสุขภาพดีแบบภูมิปัญญาไทยๆ กันดีกว่า



โดย oOfonOo [ 2 ส.ค. 2554 : 09:01:34 ]

Member
205 ศิษย์เก่า และ 54 บุคคลทั่วไป