
คนไทยคิดค้นภูมิปัญญาด้านการกินอาหารให้เป็นยาได้หลากหลายเมนู ทั้งการใช้เครื่องเทศมาปรุงอาหาร ใช้ผักต่างๆ มาล้างพิษให้กับเนื้อสัตว์ เพื่อให้ร่างกายได้รับโปรตีนอย่างปลอดภัย ตัวอย่างเช่นแกงไก่ใส่มะเขือ มะเขือนั้นมีคุณสมบัติช่วยดักจับคอเรสเตอรอล หรือการนำผักพื้นบ้านมาปรุงอาหารเป็นเครื่องจิ้มในน้ำพริก เครื่องเคียงได้รสชาติลงตัว
ผักพื้นบ้านหาได้ยากในสังคมเมือง แต่ในสังคมชนบทชาวบ้านตั้งใจปลูกบ้างหรือปล่อยทิ้งบ้างพืชผักเหล่านี้ก็เจริญงอกงามเป็นอาหารได้ตลอดปี ปลอดยาฆ่าแมลงและสารเคมีอย่างสิ้นเชิง จัดว่าเป็นอาหารสุขภาพโดยแท้ นักวิชาการจากสถาบันโภชนาการ ม.มหิดล เห็นความสำคัญของเหล่าผักพื้นบ้าน เพื่อตอกย้ำว่าผักเหล่านี้มีประโยชน์ต่อร่างกาย จึงได้ทำการศึกษาดอกไม้ที่คนไทยนิยมบริโภคได้ 8 ชนิดเพื่อจะเป็นอีกช่องทางในการลดความเสี่ยงจากโรคมะเร็ง
รองศาสตราจารย์ ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ หัวหน้าฝ่ายพิษวิทยาทางอาหาร สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับนักศึกษาปริญญาโทในหลักสูตรพิษวิทยาทางอาหารและโภชนาการได้ทำการศึกษาฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์ของดอกไม้กินได้ 8 ชนิดที่คนไทยนิยมบริโภค จากการศึกษาสารที่มีฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์ของดอกไม้ที่คนไทยนิยมบริโภค ได้แก่ หัวปลี ดอกขจร ดอกเข็ม ดอกแค ดอกบัว ดอกเฟื่องฟ้า ดอกโสน และดอกอัญชันทั้งในดอกไม้กินสดและดอกไม้ที่ผ่านวิธีการปรุงไม่ว่าจะด้วยวิธีการต้มหรือชุบแป้งทอด พบว่า ดอกไม้ที่คนไทยนิยมบริโภคทั้ง 8 ชนิด มี สารต้านฤทธิ์การก่อกลายพันธุ์สามารถลดความเสี่ยงจากโรคมะเร็งได้เป็นอย่างดี
การศึกษาได้ใช้แมลงหวี่สายพันธุ์พิเศษซึ่งจะมีความเปลี่ยนแปลงของขนบนปีกจากปกติที่มีเพียง 1 เส้น เป็น 3-4 เส้นจากรูขุมขนเดียวกันเมื่อได้รับสารก่อกลายพันธุ์คือ สารยูรีเทน (ซึ่งเป็นสารก่อกลายพันธุ์ชนิดหนึ่ง) ในการทดลองได้ให้แมลงหวี่กินอาหารที่มีส่วนผสมของดอกไม้กินได้ทั้ง 8 ชนิด พร้อมกับยูรีเทน
ผลปรากฏว่าจำนวนการเปลี่ยนแปลงขนบนปีกเนื่องจากยูรีเทนนั้นได้ลดลง เมื่อเทียบกับกลุ่มแมลงหวี่ที่ได้แต่ยูรีเทนอย่างเดียว แสดงให้เห็นว่าสารธรรมชาติที่ได้จากดอกไม้เหล่านี้ช่วยให้การกลายพันธุ์ของขนบนปีกของแมลงหวี่ลดลง เป็นหลักฐานว่าดอกไม้ว่าดอกไม้กินได้ทั้ง 8 ชนิดมีฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์
อย่างไรก็ตามสันนิษฐานว่าสารธรรมชาตินั้นอาจเป็นสาร "แอนโทไซยานีน" ซึ่งเป็นสีของดอกไม้ ที่มีประสิทธิภาพในการต้านและช่วยลดอนุมูลอิสระ นอกจากนี้ดอกไม้กินได้ทั้ง 8 ชนิด ยังอุดมด้วยคุณค่าจากใยอาหารช่วยในการขับถ่าย สีสันอันหลากหลายของดอกไม้กินรวมทั้งพืชผักที่มีสีเข้มต่างๆ จึงมีประโยชน์ต่อร่างกาย เมื่อบริโภคเป็นประจำสามารถลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งได้
ในด้านคุณสมบัติของสารอาหารนั้น แม้วิธีการปรุงอาหารโดยผ่านความร้อนจะมีผลในการทำลายสารอาหารไปบ้าง แต่สารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายดังกล่าวยังสามารถทนความร้อนและคงฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์ได้เป็นอย่างดี
ผลการวิจัยดังกล่าวจึงสามารถนำไปประยุกต์ต่อยอดและใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ได้อย่างหลากหลาย ทั้งในด้านการพัฒนาเป็นสีผสมอาหารเพื่อเพิ่มคุณค่าทางอาหาร รวมทั้งสามารถพัฒนาเป็นยาที่ใช้ป้องกันโรคได้
โดยคุณ : oOfonOo เมื่อ 28 ก.ค. 2554 : 08:52:06